นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาและรองโฆษกสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ สคบ. เตรียมเชิญสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ  ช่างรับเหมาก่อสร้าง ช่างรับเหมาต่อเติมบ้าน เพื่อหารือความเห็นแก้ปัญหาความเดือดร้อนผู้บริโภคกรณีถูกผู้รับเหมาก่อสร้างและต่อเติมบ้านทิ้งงาน และให้สมาคมฯ ว่ากล่าวตักเตือนกันก่อน ก่อนยกระดับความเข้มข้นในการควบคุมตามความเหมาะสม หลังมีสถิติร้องเรียนเรื่องอสังหาฯ ในช่วงปี 66 เข้ามา จำนวน 3,131 เรื่อง

ทั้งนี้ สคบ. ได้แนะนำให้ผู้บริโภคทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องร้องเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ เนื่องจากการแชตข้อความผ่านไลน์หรือการตกลงด้วยปากเปล่า ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อนำไปฟ้องร้องเอาผิดกับคู่กรณีได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้ประกอบธุรกิจส่งมอบหลักฐานการรับเงิน โดยลงจำนวนเงินมากกว่าที่ผู้บริโภคจะต้องชำระและได้รับเงินจำนวนนั้นไปจากผู้บริโภคแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับตั้งแต่ 1,000–20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ ความระมัดระวังตามสมควรในการประกอบธุรกิจเช่นนั้นแล้ว

นอกจากนี้การทิ้งงานของช่างรับเหมายังมีความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 โดยผู้บริโภคสามารถใช้พยานหลักฐานจากแชตคุยผ่านไลน์ หรือพยานบุคคลเพื่อพิสูจน์ต่อหน้าศาลแพ่งและพาณิชย์ได้ รวมถึงผู้บริโภคยังสามารถยื่นร้องเกี่ยวกับการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรมของของช่างผู้รับเหมา ต่อสภาวิศวกรเพื่อให้พิจารณาพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม

สำหรับสถิติร้องเรียนเรื่องอสังหาฯ ในช่วงปี 66 พบว่า มีจำนวน 3,131 เรื่อง อาทิ อาคารชุด/คอนโดมิเนียม จำนวน 256 เรื่อง บ้านจัดสรร จำนวน 173 เรื่อง และเฉพาะในช่วง 5 เดือนแรกของปี 67 มีจำนวน 1,449 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องร้องเรียนอื่นๆ สะสมตลอดทั้งปี 66 เช่น บริการ 13,706 เรื่อง สินค้า 13,475 เรื่อง สินค้าและบริการ 1,004 เรื่อง อื่นๆ 1,033 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สคบ. ได้มีการแจ้งเตือนผู้บริโภคที่คิดจะก่อสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้าน ควรเช็กประวัติบริษัทผู้รับเหมา ช่างผู้รับเหมาให้ชัดเจนและเชื่อมั่นว่าไม่ถูกหลอก ด้วยการดูผลงานและการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมที่ออกโดยสภาวิศวกรก่อนตกลงทำสัญญา และควรตรวจสอบข้อตกลงในสัญญาว่ามีเงื่อนไขถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ดังนั้น จึงขอเตือนให้ผู้บริโภคได้รับทราบ