นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้องรอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)มายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาก่อน หาก ครม. มีมติเห็นชอบ ทาง รฟม. ก็จะไปดำเนินการลงนามในสัญญากับเอกชนต่อไป ซึ่งคาดว่าประมาณเดือน ต.ค.67อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ รฟม. ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม. แต่ไม่ใช่ปัญหาอุปสรรค และจะไม่กระทบต่อการลงนามสัญญาฯ สามารถเดินหน้าโครงการต่อได้ เพราะรักษาการผู้ว่าการ รฟม. มีอำนาจเต็มในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ รฟม. สามารถลงนามในสัญญาได้  

ด้านนายอนวัช สุวรรณฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า ขณะนี้ BEM มีความพร้อมในทุกด้านที่จะดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยหากมีการลงนามสัญญาโครงการฯ ระหว่าง BEM กับ รฟม. ทาง BEM ก็พร้อมจัดหาขบวนรถที่จะนำมาให้บริการประชาชนในเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มทันที ซึ่งเบื้องต้น BEM ได้จัดเตรียมเงินกู้ในการจัดหา ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับเบื้องต้นจากบริษัทผู้ผลิตขบวนรถไว้ทั้งหมดแล้ว

นายอนวัช กล่าวต่อว่า จากที่ได้หารือกับ รฟม. เบื้องต้น พบว่า ตามสัญญาโครงการฯ กำหนดให้ BEM ต้องใช้เวลาในการจัดหาขบวนรถให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา 3 ปี 6 เดือน นับจากวันที่เริ่มลงนามสัญญา แต่ BEM ได้รับปากกับทาง รฟม. ว่าจะเร่งรัดในกระบวนการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเร็วขึ้นจากกรอบเวลาที่กำหนดไว้แค่ไหน ขอให้มีการลงนามสัญญาโครงการฯ เรียบร้อยก่อน แต่ทั้งนี้หากพิจารณาจากประวัติการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาของ BEM จะเห็นได้ว่า สามารถดำเนินการได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาฯ ทุกโครงการ ดังนั้นเชื่อว่าประชาชนอาจจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก่อนกรอบเวลาที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดให้บริการในเดือน พ.ค.71

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง 3.2 หมื่นล้านบาท โดย รฟม. เปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) ผลปรากฏว่า BEM มีผู้รับเหมางานโยธาคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูล แต่ที่ผ่านมามีคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการฯ จึงทำให้การเดินหน้าโครงการฯ ล่าช้าจากแผนเดิมที่ รฟม. วางไว้ว่าจะลงนามสัญญาฯ กับเอกชนปลายปี 65

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กม. โดยส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ซึ่งคาดว่าในส่วนของตะวันตก จะใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ 5-6 ปี โดย รฟม. วางเป้าหมายว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ประมาณเดือน พ.ย.73