เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมในจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงการแก้ไขปัญหาการเดินทางและการขนส่ง ตลอดจนติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ พร้อมพบปะประชาชนและรับฟังปัญหา เพื่อนำไปประกอบการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่งในจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน (ตอนใต้)

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาการคมนาคมขนส่งทางบก โดยเฉพาะเส้นทางจากจังหวัดนครราชสีมาไปจังหวัดขอนแก่นที่มีทางร่วมทางแยกจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับผู้ใช้เส้นทาง และเกิดวิกฤติรถติดในช่วงเทศกาลบ่อยครั้งนั้น แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 1 ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 68 วงเงิน 1,150 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกสีดา บนทางหลวงหมายเลข 202 ตอนตาลาด-หนองแวกโสก กม.233+434-กม.232.434 โครงการขยาย 4 ช่องจราจร ตอนตะหิน-ตลาดไทร กม.73+755-83+070 และตอนตะหิน-ตลาดไทร กม.83+975-84+600

รวมถึงโครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 2226 วงเงิน 970 ล้านบาท ตอนวังหิน-หนองนางดำ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร และเพิ่มไหล่ทางขยายความกว้างทางหลวงหมายเลข 2285 ตอนประทาย-ชุมพวง วงเงิน 285 ล้านบาท และโครงการเพิ่มไหล่ทางขยายความกว้างทางหลวงหมายเลข 2285 ตอนหนองโดนน้อย-ชุมพวง วงเงิน 260 ล้านบาท ซึ่งหากกรมทางหลวง (ทล.) ได้รับการพิจารณางบประมาณดังกล่าว จะเป็นการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ คาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ได้ภายในปี 67 ส่วนช่วงมาบกะเบา-นครราชสีมา ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรนั้น ได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว และได้มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งดำเนินการเพื่อให้ระบบรถไฟทางคู่เสร็จสมบูรณ์ สามารถเชื่อมโยงเส้นทางจากท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านอำเภอหินกอง จังหวัดสระบุรี นครราชสีมา และเชื่อมต่อไปยังจังหวัดขอนแก่นและหนองคาย สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางสู่ สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า (Logistics Hub) ของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับความก้าวหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 71 และระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ปัจจุบันออกแบบแล้วเสร็จ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงหลักในการก่อสร้างโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีการบูรณาการร่วมกันในทุกภาคส่วน เพื่อกำกับดูแลนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่เร่งด่วนเป็นลำดับแรก ช่วยกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน เมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ได้รับการจัดสรรงบประมาณและดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของจังหวัด พื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย.