สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ว่า ฟิตเนสแห่งหนึ่งในเมืองอินชอน ติดป้ายที่เขียนว่า “อาจุมม่าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า” และ “อนุญาตเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับการอบรมและงดงามเท่านั้น” จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงบนโลกออนไลน์ของเกาหลีใต้ เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกช่วงวัยในประเทศ

แม้ “อาจุมม่า” เป็นคำภาษาเกาหลี ที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้หญิงสูงวัย แต่ยังเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สำหรับพฤติกรรมที่ถูกมองว่าหยาบคายหรือน่ารังเกียจอีกด้วย

รายงานไม่ได้ระบุชื่อฟิตเนสหรือเจ้าของ แต่แหล่งข่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยอ้างว่า “ได้รับความเสียหาย” เนื่องจากพฤติกรรมที่หยาบคายของมนุษย์ป้าเหล่านี้ “พวกเขาใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อซักผ้า และขโมยสิ่งของต่าง ๆ อาทิ ผ้าเช็ดตัว, สบู่ หรือไดร์เป่าผม”

บุคคลนี้เล่าต่อไปว่า “พวกเขานั่งเป็นแถว และวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างของคนอื่น” พฤติกรรมของหญิงสูงวัยกลุ่มนี้ ส่งผลให้ลูกค้าหญิงอายุน้อยหลายคนเลิกใช้บริการฟิตเนสแห่งนี้ เพราะคำพูดเหล่านั้น ซึ่งทำให้พวกเธอไม่พอใจ หรือไม่สบายใจ

แม้เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับฟิตเนสเพียงแห่งเดียว แต่กลับสร้างความปั่นป่วนไปทั่ว เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจหลายประเภทของเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการสั่งห้ามเด็กหรือผู้สูงอายุเข้าใช้บริการ เหตุผลเหล่านี้จึงอาจเป็นข้อพิสูจน์ถึง “การเลือกปฏิบัติ” กับกลุ่มคนบางช่วงวัย

อย่างไรก็ตาม ฟิตเนสแห่งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วย ความเห็นหนึ่งบนโซเชียลมีเดียตั้งคำถามว่า “คำว่า ‘ลูกค้าที่ไม่ดี’ กลายเป็นคำว่า ‘อาจุมม่า’ ได้อย่างไร?” บางรายกล่าวว่า “ถ้าคุณเคยทำงานบริการจริง คุณจะรู้ว่าไม่ใช่แค่ผู้หญิงสูงอายุที่มีพฤติกรรมเหล่านั้น” ขณะที่ผู้ใช้บางรายมองว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นสัญญาณของทัศนคติที่ล้าสมัย โดยเรียกว่า “ความรู้สึกของต้นทศวรรษ 2000”

ขณะเดียวกัน ฟิตเนสแห่งนั้นชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้ง ผ่านประกาศฉบับใหม่ซึ่งระบุว่า “อาจุมม่ามักชอบของฟรีโดยไม่คำนึงถึงอายุ และขี้เหนียวกับเงินของตน แต่ไม่ใช่กับเงินคนอื่น” พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า อาจมีเจ้าของธุรกิจที่มีความรู้สึกแบบเดียวกัน แต่ไม่แสดงออก “ไม่ใช่ว่ากำลังแสดงความคิดเห็นเกลียดชังผู้หญิง ซึ่งมีอายุมากกว่าหรือผู้หญิงทั่วไป แต่คนที่โกรธเคืองกับเรื่องนี้ แท้จริงแล้วคือคนที่มีปัญหา” เจ้าของฟิตเนสกล่าวกับสำนักข่าวยอนฮัป

อย่างไรก็ตาม คนบางกลุ่มให้การสนับสนุน โดยอธิบายว่าคนเหล่านี้ “เอาแต่ใจ” ขณะที่บางคนใช้ภาษาดูหมิ่นและเรียกพวกเขาว่า “โง่เขลา” ความคิดเห็นหนึ่งระบุว่า “สาว ๆ น่ารำคาญ … พวกเขาพาลูก ๆ ไปที่ร้านอาหารและคาเฟ่ และทำตัวไม่ดี” มีการกล่าวถึงเด็กหลายครั้ง พร้อมทั้งหยิบยกแนวคิดหลัก ว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ใช้พื้นที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้องความสนใจ

อนึ่ง ผู้หญิงเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อย ต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตั้งแต่การตัดผมสั้นไปจนถึงการเป็นโสด ท่ามกลางสภาพสังคมแบบอนุรักษนิยม ขณะที่ผู้ชายไม่ถูกตัดสินจากพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องแยกแยะผู้หญิงประเภทต่าง ๆ ในเมื่อผู้ชายซึ่งมีอายุมาก ก็มีแนวโน้มประพฤติตัวไม่ดีเช่นกัน “ผู้ชายสูงอายุก็มีพฤติกรรมเหมือนกัน” ศ.พัค ซังฮี ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา กล่าว “ผู้ชายสูงอายุยังหมกมุ่นอยู่กับของฟรี และทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า พฤติกรรมหยาบคาย ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้หญิงที่มีอายุมากเท่านั้น”.

เครดิตภาพ : AFP