ประเทศไทยกำลังจะมีดาวเทียมต่างชาติ เข้ามาให้บริการ เมื่อ OneWeb ดาวเทียมสัญชาติอังกฤษ ได้รับอนุญาต จาก กสทช. ในการให้บริการเชิงพาณิชย์ในไทย

หลัง บอร์ด กสทช. อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ สำหรับ โครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ แก่ บริษัท OneWeb ที่ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ดังนี้

1. อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb โดยมีระยะเวลา 5 ปี 2. อนุญาตการเพิ่มบริการขายความจุดาวเทียม (satellite network capacity) ตามระยะเวลาใบอนุญาตของ เอ็นที ที่จะสิ้นสุด 3 สิงหาคม 2568 และ 3. อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระยะเวลา 5 ปี

วันนี้ คอลลัมน์ ชีวิตติด TECH จะพามาทำความรู้จัก OneWeb และแผนการทำธุรกิจในไทย จากผู้บริหารระดับสูง ของ OneWeb คือ “เนฮา อินานี่” รองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ OneWeb

“เนฮา อินานี่” บอกว่า OneWeb เป็นผู้ให้บริการดาวเทียมประจำที่ (GEO) และดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) รายเดียวในโลก โดยปัจจุบัน มีดาวเทียมประจำที่ (GEO) 35 ดวง และดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) 634 ดวง

โดย ดาวเทียม GEO ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 36,000 กม. แต่ละดวงสามารถครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1/3 ของพื้นผิวโลก ขณะที่ดาวเทียม OneWeb LEO โคจรรอบโลกในวงโคจรขั้วโลกซึ่งอยู่ที่ระดับความสูง 1,200 กม. หรือตั้งอยู่ใกล้โลกมากกว่าเกือบ 30 เท่า ครอบคลุมพื้นที่ที่เล็กกว่ามาก จึงจำเป็นต้องมีดาวเทียมจำนวนมาก เพื่อครอบคลุมพื้นผิวโลกทั้งหมด

เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ที่การเชื่อมต่อเข้าถึงยาก ทั้งในภาคพื้นดินที่ห่างไกล รวมถึงมหาสมุทรและท้องฟ้า จึงเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อให้กับเรือเดินทะเล เครื่องบิน และสถานที่ห่างไกลบนบก 

เนฮา อินานี่ (ขวา)

โดยดาวเทียม LEO นอกเหนือจากการครอบคลุมแล้วยังสามารถให้การเชื่อมต่อ “ความหน่วงต่ำ” ไปยังเทอร์มินัลผู้ใช้ภาคพื้นดินได้อีกด้วย   

ความหน่วงต่ำหรือ Low Latency เป็นสิ่งสำคัญสำหรับแอปพลิเคชันที่มีความอ่อนไหวต่อเวลา เช่น 4G, LTE, BTS backhaul, การเชื่อมต่อแบบเครื่องต่อเครื่อง, การทำงานอัตโนมัติของอุปกรณ์ระยะไกล, แอปพลิเคชันสื่อ และการเงินระยะไกล เหล่านี้เป็นแอปพลิเคชันที่จะได้ประโยชน์จากเวลาแฝงที่ต่ำกว่าที่ได้จากดาวเทียม GEO

การเข้ามาทำธุรกิจในไทย ได้ร่วมมือกับ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที เพื่อให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO)  ซึ่งได้ร่วมลงทุนมูลค่ากว่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 911 ล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น เพื่อให้บริการ Eutelsat OneWeb ในประเทศไทยและภูมิภาคนี้!!

โดยได้สร้างก่อสร้างสถานีภาคพื้น (Gateway) ดาวเทียมวงโคจรต่ำรองรับไว้แล้วที่สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี ติดตั้งฐานจานสายอากาศจำนวน 14 ฐาน เพื่อติดตั้งจานสายอากาศเบื้องต้น 12 จานสายอากาศ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบสำหรับดาวเทียม OneWeb ด้วยคุณภาพบริการที่ระดับ SLA ไม่น้อยกว่า 99.99%

“สถานีเกตเวย์ในประเทศไทย จะเป็นฐานที่ทำให้สามารถให้บริการได้ในภูมิภาคอินโดจีน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการเชิงพาณชย์ได้ประมาณเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งในประเทศไทย OneWeb ได้ทำข้อตกลงในการให้บริการผ่าน เอ็นที, บริษัท เนชั่นสเปซและเทคโนโลยี จำกัด หรือ NSAT และบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ MuSpace ซึ่งแต่ละราย ก็มีแผนการตลาดและการจัดจำหน่ายเป็นของตัวเอง โดยหวังว่า ช่วยให้ประชาชนและประเทศไทยได้รับประโยชน์จากบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เชื่อมต่อดาวเทียมที่มีความหน่วงต่ำ ทั้งทางบก ทางทะเล และบนท้องฟ้า”

ในเรื่องของราคาค่าบริการนั้น ทางผู้บริหารของ OneWeb ยังไม่ได้ให้รายละเอียด เพียงแต่บอกว่า จะมีราคาค่าบริการที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทาง ผู้บริหารของเอ็นที คาดการณ์ว่า หากสามารถร่วมมือกับ OneWeb ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมวงโคจรโลกต่ำในไทย จะสามารถทำรายได้ประมาณ 1,900-2,000 ล้านบาทภายใน 10 ปี!?!

“การให้บริการดาวเทียมลีโอ จะสามารถให้ความคุ้มครองในส่วนพื้นที่ ที่เข้าถึงยากของโลก รวมถึงมหาสมุทร และท้องฟ้าด้วย อาทิ เรือเดินทะเล เครื่องบิน และสถานที่ห่างไกล ที่ไม่สามารถลากสายไฟเบอร์ไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อยกระดับธุรกิจ และคุณภาพชีวิตได้”

ส่วนในประเด็นที่ว่า การมาให้บริการของ OneWeb อาจจะส่งผลกระทบต่อ ผู้ให้บริการมือถือ และบริษัทดาวเทียมของไทยนั้น ทางผู้บริหารของ OneWeb ยืนยันว่า ถือเป็นคนละตลาด บริษัท มีเทคโนโลยีและโซลูชั่น ทั้ง ดาวเทียมวงโคจรต่ำ และดาวเทียมประจำที่ สามารถส่งมอบเทคโนโลยีและบริการที่ดียิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมกันและกันมากกว่า!!

ขณะที่ในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้น ทางผู้บริหารของ OneWeb บอกว่า บริษัทมีสถาปัตยกรรม ความปลอดภัย ที่ออกแบบอย่างแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยรวมกับการเข้ารหัส หลายระดับเพื่อรักษาข้อมูลของลูกค้าให้ปลอดภัย และเราตรวจสอบเครือข่ายของเราอย่างต่อเนื่องแบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจจับการบุกรุกจากผู้ประสงค์ร้าย หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น!?!

สถานีภาคพื้น (Gateway) ที่สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี

ผู้บริหาร OneWeb ยังได้บอกถึง ดาวเทียม OneWeb รุ่นต่อไปว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับ Eutelsat Group คือ การรักษาความต่อเนื่องในการให้บริการแก่ลูกค้าเมื่อเวลาผ่านไป และดาวเทียมเจเนอเรชั่นถัดไป จะได้รับการออกแบบด้วยระบบตามแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักให้กับลูกค้า

ในขณะเดียวกันก็แนะนำคุณสมบัติใหม่ด้วย โดยนำแนวทางแบบโมดูลาร์มาใช้ และเริ่มใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมระดับความซับซ้อนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยในการปรับความจุในการเติมเต็มเครือข่ายได้ดีขึ้น!!

คงต้องติดตามกันว่า เมื่อถึงเดือน ก.ย. ที่ OneWeb เริ่มให้บริการ จะประสบความสำเร็จมากแต่ไหน? แต่อย่างน้อย ก็ได้เกิดการลงทุนในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายระดับภูมิภาคในการทำตลาดในภูมิภาคนี้แล้ว!?! 

Cyber Daily