สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ว่ายูเอ็นเอชซีอาร์รายงานว่า ประชาชนจำนวน 120 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากสงคราม ความรุนแรง และการประหัตประหาร หลังการบังคับพลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นทำลายสถิติอีกครั้ง เพราะความรุนแรงในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ ฉนวนกาซา, ซูดาน และเมียนมา ส่งผลให้ขณะนี้ จำนวนประชากรผู้พลัดถิ่นทั่วโลกมีจำนวนเทียบเท่ากับประชากรในญี่ปุ่นแล้ว

“ความขัดแย้งเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่” นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นเอชซีอาร์กล่าว โดยเมื่อปลายปี 2566 มีผู้พลัดถิ่นมากถึง 117.3 ล้านคน และจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา จำนวนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอีก และมีการคาดการณ์ว่าผู้พลัดถิ่นทั่วโลกอาจมีจำนวนสูงถึง 120 ล้านคน

ทั้งนี้ จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 110 ล้านคนเมื่อปี 2566 และเป็นการเพิ่มขึ้น 12 ปีติดต่อกัน คิดเป็น 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2555 ท่ามกลางการผสมผสานระหว่างวิกฤติการณ์ใหม่, วิกฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อ

กรันดีกล่าวว่า เขารู้สึกตกใจกับจำนวนผู้พลัดถิ่นที่สูง เมื่อสมัยเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 8 ปีก่อน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตัวเลขก็ “เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า” และมองว่าสิ่งนี้เป็น “สถานการณ์ที่เลวร้ายต่อสถานะของโลก”

รายงานของยูเอ็นเอชซีอาร์ชี้ให้เห็นถึงวิกฤติการณ์ที่ทวีความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด และเน้นย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายของประชากร และก่อให้เกิดความขัดแย้งด้วย เมื่อปี 2566 ยูเอ็นเอชซีอาร์ประกาศเหตุฉุกเฉิน 43 ครั้งใน 29 ประเทศ ซึ่งมากกว่า 4 เท่าของเหตุการณ์ปกติเมื่อไม่กี่ปีก่อน กรันดีตั้งข้อสังเกตว่า “ความรุนแรงเกิดขึ้นโดยไม่สนใจกฎหมายระหว่างประเทศ” และ “บ่อยครั้งมีจุดประสงค์ในการข่มขู่ผู้คนโดยเฉพาะ” เขาอธิบาย “แน่นอนว่าคือสาเหตุหลัก ที่ทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากขึ้น”

กรันดียอมรับว่า ขณะนี้ มีความหวังเพียงเล็กน้อย ในการยับยั้งไม่ให้ตัวเลขของผู้พลัดถิ่นสูงขึ้น “เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ แต่น่าเสียดายเมื่อเห็นว่า ตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” เขากล่าว

รายงานเปิดเผยว่า ในจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกทั้งหมด 117.3 ล้านคน เมื่อสิ้นปี 2566 เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 68.3 ล้านคน ขณะเดียวกัน ผู้ลี้ภัยและบุคคลอื่น ๆ ที่ต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 43.4 ล้านคน

มากไปกว่านั้น สงครามกลางเมืองในซูดาน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่การสู้รบปะทุขึ้น เมื่อเดือน เม.ย. 2566 ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 9 ล้านคน และชาวซูดานเกือบ 11 ล้านถูกบังคับให้เคลื่อนย้าย เมื่อสิ้นปี 2566 และตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นไม่หยุด

ในเวลาเดียวกัน ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) และเมียนมา ประชาชนหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เนื่องจากการสู้รบ

ขณะที่ในฉนวนกาซา ยูเอ็นประเมินว่าประชาชน 1.7 ล้านคน หรือร้อยละ 75 ของประชากรทั้งหมด ต้องพลัดถิ่นเนื่องจากสงครามที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566

สำหรับสงครามในยูเครน ที่เปิดฉากเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ยูเอ็นเอชซีอาร์ประเมินว่า มีผู้พลัดถิ่นรายใหม่ประมาณ 750,000 คนเมื่อปีที่แล้ว และมีผู้พลัดถิ่นในประเทศรวม 3.7 ล้านคน ซึ่งทำการลงทะเบียน เมื่อปี 2566 ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยชาวยูเครนเพิ่มขึ้นมากกว่า 275,000 คนเป็น 6 ล้านคน ส่วนวิกฤติผู้พลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดของโลก ณ เวลานี้ เกิดขึ้นในซีเรีย โดยมีผู้พลัดถิ่น 13.8 ล้านคนทั้งในและนอกประเทศ นับตั้งแต่เกิดสงคราม เมื่อปี 2554.

เครดิตภาพ : AFP