วันนี้ (7 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อตรวจการบริหารจัดการน้ำในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และตรวจแผนการป้องกันอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะ ด้วย นอกจากนี้ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัลชุมชน ต.มะม่วงสองต้น และเป็นประธานในพิธีเปิดและมอบอุปกรณ์และครุภัณฑ์ให้แก่ศูนย์ฯ อีกทั้งพบปะประชาชนในพื้นที่

 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

โดยการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลฯ ในส่วนของโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน เป็นการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 500 แห่ง ผลักดันให้เกิดสังคมแห่งการสร้างภูมิปัญญา (Knowledge Base Society) เป็นแหล่งการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับเด็ก เยาวชน คนพิการ และประชาชนในชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการค้าขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

“นอกจากนี้ โครงการเน็ตประชารัฐ ยังเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่วางรากฐานด้านดิจิทัลให้กับประเทศ ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชุมชน ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และให้ประชาชนในท้องถิ่นมีการเข้าถึงสารสนเทศ และบริการภาครัฐเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งผมมีความมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีการพัฒนาไปข้างหน้าพร้อมกันทุกด้าน ทั้งคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดประโยชน์ กับประเทศชาติและพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เยี่ยมชมบูธแสดงผลงานสำคัญจากหน่วยงานในสังกัดดีอีเอส ได้แก่ “เน็ตประชารัฐกับบริการดิจิทัลเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน” โดย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) “Thailandpostmart การส่งเสริมการขายและจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์” โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด “เทคโนโลยีอัจฉริยะ (โดรน) กับการพัฒนาเกษตรชุมชน” โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับหอการค้านครศรีธรรมราช “รู้เร็ว รู้ทัน รู้ป้องกัน ภัยธรรมชาติ” โดย กรมอุตุนิยมวิทยา  และ “1212 OCC รับดูแล ช่วยเหลือ แก้ปัญหา ภัยจากอินเทอร์เน็ต” โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะกระทรวงที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งเป็นแกนหลักในการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดสังคมแห่งการใช้ประโยชน์และสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ดำเนินโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยมุ่งหวังให้สามารถให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ เป็นจุดให้บริการอุปกรณ์ดิจิทัล และเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต เป็นจุดรับบริการภาครัฐ ให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจและประกอบอาชีพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  พร้อมกันนี้ยังจะผลักดันนโยบายการทำให้ “internet กลายเป็น สาธารณูปโภคพื้นฐาน” โดยปรับเปลี่ยนมุมมองแนวคิด จากการเป็น สินค้าฟุ่มเฟือยเป็น “สิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ที่รัฐพึงจัดให้” โดยกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการและความจำเป็นพื้นฐาน อย่างตรงจุด ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับบริการที่มีคุณภาพ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวง รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า ระหว่างปี 63-64 สดช. ได้ดำเนินการขยายผลและยกระดับศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน สู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 500 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้รับรางวัลชนะเลิศ WSIS Prize ในหมวดสังคมและจริยธรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นรางวัลจากสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ITU) และองค์การสหประชาชาติ (UN)

โดยได้คัดเลือก โรงเรียนวัดมะม่วงสองต้น ต.มะม่วงสองต้น อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ทำหน้าที่เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลมะม่วงสองต้น โดยจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับบริบท และวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อใช้ในการผลักดันประชาชนในพื้นที่ให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และต่อยอดการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน ไปสู่การเปิดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ผลงาน พื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมของชุมชน (Co-working space) อีกทั้ง จัดเตรียมหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับผู้ดูแลศูนย์ฯ และคนในชุมชนด้วย