นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา และรองโฆษกสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยถึงกรณีจัดจำหน่ายกล่องสุ่มที่กำลังเป็นที่นิยมบนช่องทางออนไลน์ในขณะนี้ ว่า การกระทำดังกล่าว ถือว่ามีความผิด 2 กฎหมาย คือ ส่วนแรกอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ที่ดูแลโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หากไม่ได้ทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง หรือไม่ผ่านการตรวจสอบ ดังนั้นผู้จัดจำหน่ายจะต้องทำการยื่นขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อความโปร่งใสในการจัดจำหน่ายด้วย
ทั้งนี้ยังอาจความผิดตามกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ. 2564 ที่ดูแลโดย สคบ. ดังนั้นผู้ขายจะต้องระบุรายละเอียดระหว่างโฆษณาขายสินค้าให้ชัดเจน เช่น จัดจำหน่ายกล่องสุ่ม 10 กล่อง แยกเป็นรางวัลใหญ่โทรศัพท์ไอโฟน 15 หนึ่งเครื่อง ส่วนรางวัลที่เหลือจำนวน 9 กล่อง อาจจะเป็น มาม่า ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ซึ่งจะต้องเป็นมูลค่าที่ผู้บริโภคอาจทราบได้โดยทั่วไป และข้อความนั้นได้แสดงให้ผู้บริโภคทราบถึงประเภทและลักษณะของของแถมหรือรางวัลไว้โดยชัดแจ้ง
“สำหรับกล่องสุ่มสินค้าที่เข้าข่ายความผิด คือ สินค้าที่จัดโดยไม่ได้ทำการขออนุญาตกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ว่าสินค้าดังกล่าวจัดจำหน่ายในสถานที่ไหน เริ่มตั้งแต่เมื่อเท่าไหร่ไปจนไปสิ้นสุดเมื่อใด รวมถึงมูลค่ารวมของสินค้าทั้งหมดว่ามีมูลค่าเท่าใด ส่วนกฎกระทรวงฯ ที่ดูแลโดย สคบ. จะต้องระบุข้อความการโฆษณาให้ชัดเจน วันเดือนปีการจัดจำหน่ายให้ชัดเจน”
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา สคบ. เคยแจ้งเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อการโฆษณาขายกล่องสุ่ม เพราะเห็นว่าการนำสินค้าดังกล่าวมาขายให้ผู้บริโภคในลักษณะนี้ จะทำให้ผู้บริโภคอาจไม่ได้รับสินค้า หรืออาจได้รับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่าเงินที่จ่ายไปได้ ซึ่งการกระทำการดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงด้วย ดังนั้น จึงขอเตือนให้ผู้บริโภค หรือผู้ปกครองได้รับทราบ หากเห็นบุตรหลานของตัวเองมีการซื้อของดังกล่าว ก็ต้องแจ้งเตือนให้ระวัง