เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 67 ที่กระทรวงมหาดไทย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกับนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อขับเคลื่อนโครงการพื้นที่ปลอดภัย หยุดยั้งยาเสพติด (Save Zone Hold Drug) โดยมี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 3 กระทรวงเข้าร่วม 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือของ 3 กระทรวง ซึ่งมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมากตั้งแต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นักเรียน นักศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดครั้งนี้  เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระเร่งด่วนต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด และเป็นการขยายผลมาตรการเชิงรุกของกระทรวงมหาดไทยที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี มาขับเคลื่อนผ่านกลไกของกระทรวงอยู่ปัจจุบัน อาทิ  เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสนธิกำลังกับฝ่ายความมั่นคงเข้าปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การสแกนเชิงพื้นที่เพื่อนำผู้เสพเข้าสู่การบำบัด การสุ่มตรวจสารเสพติดในบุคลากร

ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้มีนโยบายว่ามาตรการเชิงรุกที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ควรได้รับการขยายผลให้กว้างขึ้น โดยบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อดำเนินการทั้งด้านการปราบปราม การลดจำนวนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เสพ-ผู้ติดรายใหม่ (New Face) ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องอาศัยกลไกความร่วมมือกับสถานศึกษา มหาวิทยาลัย และบุคลากรในสถานศึกษาในการสอดส่องดูแล สร้างการรับรู้ ภูมิคุ้นกันไม่ให้เยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด 

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้หารือแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในด้านต่างๆ ของ 3 กระทรวง เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ค้นหาผู้เสพ-ผู้ติดยาเสพติด  แนวทางการสุ่มตรวจปัสสาวะบุคลากรในสังกัด ทั้งข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษา ตลอดจนเครือข่ายอาสาสมัครในสังกัดของแต่ละกระทรวง แนวทางดำเนินการกรณีตรวจพบสารเสพติดในร่างกาย เพื่อให้การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และสามารถขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกของ รมว.มหาดไทย ซึ่งหลังจากนี้จะนำแนวทางที่ได้จากที่ประชุมไปลงรายละเอียดเป็น MOU เพื่อลงนามร่วมกันและนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป

“ท่านอนุทินต้องการให้มาตรการเชิงรุกจริงจังกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เริ่มที่หน่วยงานภายใต้การกำกับของท่านก่อน จึงเป็นที่มาของการบูรณาการของมหาดไทย ศึกษาฯ และอว. ซึ่งเราได้หารือกันทั้งในแง่ของแนวดำเนินการ ประเด็นอ่อนไหวที่ต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบสิทธิของกลุ่มเป้าหมาย สามารถสืบค้นหาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามข้อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน สามารถนำผู้เสพ-ผู้ติด เพื่อนำเขาเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและคืนบุคลากรที่มีคุณค่าสู่สังคมต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว.