เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น ตนคิดว่าต้องคิดให้รอบคอบอย่างที่สุด ไม่ควรทำเรื่องนี้เพื่อเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และต้องคิดถึงประชาชนที่ไม่มีอำนาจต่อรองเหมือนคนบางกลุ่ม มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายและความเดือดร้อนต่อประชาชนหลายกลุ่ม จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมุ่งเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแต่ควรเร่งออกกฎหมายเพื่อมาควบคุมการใช้กัญชา ทั้งนี้ แม้กัญชาเคยเป็นยาเสพติดประเภท 5 แต่เมื่อมีการศึกษาถึงผลดีและผลเสียอย่างเป็นระบบแล้ว จึงทำให้รู้ว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์และมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยภายหลังจากปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ทำให้เกิดผู้ประกอบกิจการรายย่อยเกี่ยวกับธุรกิจกัญชา และชาวบ้านทั่วไปได้ใช้กัญชารักษาโรค อีกทั้งใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาหารมาเป็นเวลานาน แต่หากนำกลับไปเป็นยาเสพติด ประชาชนที่ครอบครองกัญชาจะต้องถูกจับถูกดำเนินคดี เดือดร้อนต้องหาเงินมาประกันตัวและต่อสู้คดี

“รมว.สาธารณสุขเคยเป็น รมว.ยุติธรรม น่าจะบอกข้อมูลสถิติในทางคดีสำหรับชาวบ้านที่ครอบครองกัญชาและถูกจับ ตอนที่ยังไม่ปลดล็อกออกจากยาเสพติดว่ามีจำนวนเท่าไร และไม่ได้เป็นยาเสพติดแล้ว สถิติคดีโดยรวมทั้งหมดลดลงเท่าไร เมื่อตัดคดีกระทำผิดเกี่ยวกับการครอบครองกัญชาออกไป” นายคารม กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า กัญชายังไม่เคยมีการออกกฎหมายมาควบคุมการใช้อย่างจริงจัง ยังไม่มีการประเมินผลดีและผลเสีย แค่มีคนบ้าคนหนึ่งมาโจมตีกัญชาแบบเอาเป็นเอาตาย และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ก็ตั้งท่าจะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ตนจึงรู้สึกแปลกใจมาก ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก หากออกกฎหมายควบคุม ก็น่าจะใช้เวลาไม่นาน และน่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุด เพราะกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมการใช้ประโยชน์จากกัญชาทั้งหมด และใครใช้ได้หรือไม่ได้ อย่างไร ดังนั้นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก ควรเร่งออกกฎหมายเพื่อมาบังคับใช้ จะทำให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ ทางการแพทย์ ไม่เพิ่มคดีความให้กับผู้ครอบครองกัญชาที่เป็นวิถีชาวบ้าน

“ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่ควรเร่งออกกฎหมายเพื่อมาควบคุมการใช้กัญชาในทางเศรษฐกิจ ทางกฎหมาย และทางการแพทย์ แต่การที่ออกตัวมาตั้งเป้าว่าจะเอากัญชาไปเป็นยาเสพติด ผมว่าแปลกมาก” นายคารม กล่าว