สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ว่านายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เตือนว่า กลไกการค้าระหว่างประเทศใกล้แตกแยก จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และเลขาธิการยูเอ็นเรียกร้อง ไม่ให้โลกแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

“ระบบการค้าระหว่างประเทศถูกท้าทายจากทุกฝ่าย ส่งผลให้สั่นคลอนจนเกือบจะแตกเป็นเสี่ยง” กูเตอร์เรสกล่าว ในพิธีฉลองครบรอบ 60 ปี ของหน่วยงานการค้าและการพัฒนาของสหประชาชาติ “ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่เท่าเทียมกำลังเพิ่มสูงขึ้น และวิกฤติการณ์สภาพภูมิอากาศ กำลังส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่อประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง”

เลขาธิการยูเอ็นระบุว่า ความขัดแย้งครั้งใหม่ที่ยืดเยื้อ กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก “การค้ากลายเป็นดาบสองคม โดยเป็นแหล่งที่มาของความเจริญรุ่งเรืองและความไม่เท่าเทียม, ความเชื่อมโยงและการพึ่งพาอาศัยกัน, นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม”

องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เตือนเกี่ยวกับการที่เศรษฐกิจโลกกระจายตัวออกเป็นส่วน ๆ มาเป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากประเทศต่าง ๆ สนับสนุนการค้าภายในภูมิภาคหรือกลุ่มการค้าของตน มากกว่าในระดับโลก

นางคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ แถลงเมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว ว่าประเทศต่าง ๆ จะต้องดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบของการแตกตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่านี้ และช่วยกันรับมือกับ “สงครามเย็นครั้งที่สอง” นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565

“ความร่วมมือพหุภาคีที่อ่อนแอลง และพลังแห่งการแยกตัวก็แข็งแกร่งขึ้น” กูเตอร์เรสเตือน “อุปสรรคทางการค้าใหม่ ๆ ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2562 ส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ และไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา” เขากล่าว “โลกไม่สามารถแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มคู่แข่งได้” เพื่อประกันสันติภาพและความมั่นคง เลขาธิการยูเอ็นแนะนำว่า “เราต้องการตลาดโลกและเศรษฐกิจโลกเดียว ที่ไม่มีที่ว่างสำหรับความยากจนและความหิวโหย”

อังค์ถัดก่อตั้งขึ้น เมื่อปี 2507 ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนา ให้ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกอย่างยุติธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการให้ข้อมูล, วิเคราะห์ และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพัฒนา ปัจจุบันอังค์ถัดมีสมาชิก 195 ประเทศ.

เครดิตภาพ : AFP