ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มิ.ย. 2567 บริษัท FTI Touristik GmbH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มบริษัท FTI GROUP ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว บริษัททัวร์ใหญ่อันดับ 3 ในยุโรป ของประเทศเยอรมนี ได้ยื่นล้มละลายต่อศาลแขวงนครมิวนิก ส่งผลให้บรรดาโรงแรมในไทยได้รับผลกระทบกันไปตามๆ กัน เนื่องจากกลุ่มบริษัทดังกล่าว ยังค้างไม่จ่ายเงินให้กับโรงแรมในไทย
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า สมาคมโรงแรมได้สำรวจผลกระทบจากกรณีดังกล่าว มีโรงแรมในไทยไม่ได้รับการชำระเงินจากบริษัทที่แจ้งล้มละลายร่วม 111 ล้านบาท แบ่งเป็น โรงแรมในกรุงเทพฯ 12.72 ล้านบาท ภาคเหนือ 632,244 บาท ภาคตะวันออก 4.038 ล้านบาท ภาคตะวันตก 888,151 บาท และภาคใต้ 92.88 ล้านบาท กรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้โรงแรมขาดความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทนำเที่ยว
ซึ่งปกติที่ผ่านมา จะให้เครดิตล่วงหน้า จากนี้ไปการทำงานของบริษัทนำเที่ยวอาจจะยากขึ้น เพราะโรงแรมอาจจะไม่ปล่อยเครดิตให้ หรือให้วงเงินอาจจจะน้อยลง และกรณีที่เกิดขึ้ตนี้ส่งผลให้ขาดความสมดุลย์ของการทำการตลาดเพราะตลาดเยอรมนี ถือเป็นตลาดหลักของไทย
“ต่อไปผู้ประกอบการโรงแรมอาจจะเลือกทำงานกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในระบบออนไลน์ หรือโอทีเอ มากขึ้น เพราะไม่ต้องมีการเรียกเก็บเงินแบบให้เครดิต และผู้ประกอบการคงต้องเริ่มมีระบบเพลย์เม้นเกทเวย์ซึ่งจะทำให้มีความสะดวกสบายและลดความเสี่ยง ส่วนลูกค้าอาจจะเลือกที่จะจองห้องพักและตั๋วโดยสารผ่านช่องทางอื่นแทนผ่านบริษัทนำเที่ยว ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าเช่นจองโดยตรงกับโรงแรมหรือสายการบิน หรือจองผ่านโอทีเอ”
ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้น ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ควรจะมีแหล่งข้อมูลและส่งข่าวให้ภาคเอกชนได้ทราบเพื่อเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้า และภาครัฐควรจะมีมาตรการรองรับในสถานการณ์แบบนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจขาลงด้วย
นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี กล่าวว่า โรงแรมหลายแห่งทั่วประเทศไทย เริ่มได้รับผลกระทบจากกรณีที่ เอฟทีไอ กรุ๊ป ยื่นล้มลายต่อศาล แนวโน้มขณะนี้มีโอกาสที่โรงแรมที่ยังไม่ได้รับการชำระค่าห้องมาจากบริษัท ต้องแบกรับภาระกันเองจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถเรียกเก็บค่าที่พักจากนักท่องเที่ยวโดยตรงได้ เพราะนักท่องเที่ยวได้ชำระล่วงหน้ากับ FTI มาแล้ว
“ตามปกติโรงแรมจะให้เครดิตระยะเวลา 30 วัน แก่บริษัทนำเที่ยว หลังจากลูกค้าเช็กเอาต์และออกใบแจ้งหนี้ให้แล้ว เพื่อให้ชำระค่าใช้จ่ายห้องพักให้เรียบร้อย แต่เมื่อบริษัทดังกล่าวเกิดปัญหาทางการเงิน จึงเกิดความไม่แน่นอนว่าจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวอย่างไร เนื่องจากกระบวนการธุรกิจเข้าสู่การคุ้มครองของศาลเยอรมนีเรียบร้อยแล้ว โรงแรมบางส่วนอาจเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวได้ และขอให้นักท่องเที่ยวไปทำเรื่องรับเงินชดเชยคืนจากบริษัทนำเที่ยวตามกฎหมายที่คุ้มครองไว้ แต่คาดว่าส่วนใหญ่จะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายไว้เอง เพราะนักท่องเที่ยวถือว่าได้ชำระผ่านบริษัทนำเที่ยวมาแล้ว” นายธเนศ กล่าว
นายธเนศ กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมรับทราบเค้าลางสถานะการเงินที่ไม่มั่นคงของบริษัทดังกล่าวมา 2-3 เดือนแล้ว แต่เนื่องจากมีรายงานว่ามีนักลงทุนที่จะเข้ามาซื้อกิจการ จึงคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อปรากฏว่าเงื่อนไขการซื้อขายไม่ลงตัว เนื่องจากนักลงทุนต้องการให้รัฐบาลเยอรมนี ช่วยค้ำประกันหนี้ แต่รัฐบาลเยอรมนีไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ