เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารรวมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อม พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค 4, ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน, นายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, นายสิริน ชาวเพ็ชรดี ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการถือครองหรือครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์โดยตัวแทนอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) ในพื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยภายหลังการประชุม ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบจุดก่อสร้างอาคารบนพื้นที่เขาหมาแหงน (เขาเฉวงน้อย) ต.บ่อผุด

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ปัญหาคนต่างด้าวหรือชาวต่างชาติถือครองหรือครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยตัวแทนอำพรางหรือนอมินียังทวีความรุนแรงและพบมากขึ้นในหลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่ด้านการเกษตร ซึ่งมีทั้งทุนจีน รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน เมียนมา ทั้งในรูปแบบการให้คนสัญชาติไทยถือครองที่ดินแทนโดยผ่านความสัมพันธ์ทางครอบครัว (การสมรสกับคนไทยหรือการถือครองโดยบุตร) การเช่าหรือซื้อผ่านผู้มีสัญชาติไทย การตั้งเป็นนิติบุคคลไทยแล้วถ่ายโอนในภายหลัง การใช้นิติบุคคลสัญชาติไทยซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สูงกว่าราคาทุน ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างกว้างขวาง

โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีความล้าสมัยจึงขาดประสิทธิภาพในการใช้บังคับ หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วจะทำให้ประเทศได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เร่งศึกษาปัญหาดังกล่าวและลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงในจังหวัดเชียงใหม่ ตาก สุราษฎร์ธานี และจะขยายผลในภูเก็ต จันทบุรี และตราด เพื่อจะเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง หรือการตรากฎหมายเกี่ยวกับตัวแทนอำพรางหรือนอมินี (Nominee) ขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อเป็นมาตรการป้องกันและลงโทษให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่โดยเร็ว

นายทรงศัก กล่าวว่า ในวันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องประชุมหารือร่วมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย โดยมี พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 พันเอก ฐิติพงษ์ อินวะษา รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 45 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 (พื้นที่เกาะสมุย) นายกัมปนาท กลิ่นเสาวคนธ์ นายอำเภอเกาะสมุย ผู้แทนตำรวจภูธรภาค 8 และหน่วยงานในพื้นที่ สำหรับในพื้นที่อำเภอเกาะสมุยนั้น คณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ กอ.รมน.ภาค 4 รายงานว่า บริเวณพื้นที่ยอดเขาและเชิงเขาบนเกาะสมุยหลายจุดกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เต็มไปด้วยวิลล่าหรู บ้านพักปลูกสร้าง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ครอบครองของชาวต่างชาติ เช่น จีน เยอรมนี รัสเซีย ฝรั่งเศส ที่ดำเนินกิจกรรมในนามบริษัทนิติบุคคล โดยใช้ชื่อนอมินีชาวไทยมาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ทำธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่เกษตรไปเป็นธุรกิจการจัดสรรที่ดินเพื่อสร้างอาคาร

ถือเป็นการทำลายเอกลักษณ์ธรรมชาติของเกาะสมุย ทำลายสภาวะแวดล้อมของพื้นดิน ภูเขา ป่าไม้ ทางน้ำไหล ที่อยู่อาศัย ทำลายสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน รวมถึงการออกเอกสารสิทธิที่ดินบางพื้นที่บนเกาะสมุยที่อาจไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้วนำที่ดินดังกล่าวไปขายให้กลุ่มนายทุนต่างชาติ จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณเขาละไม ตำบลมะเร็ต ซึ่งมีโครงการอันจู ซีเมท ที่ถูกร้องเรียนว่าก่อสร้างผิดแบบและไม่ถูกต้องตามกฎหมายตั้งอยู่ และบริเวณเขาหมาแหงน (เขาเฉวงน้อย) ตำบลบ่อผุด ซึ่งมีการก่อสร้างวิลล่าหรูหรานับร้อยหลัง มูลค่ารวมกันไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้าน

จากการหารือมีความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน คือ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น หรือระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า รวมทั้งแก้ในระยะต่อไปท้้งระบบได้แก่ 1) วางแนวทางและหลักการในเรื่องนี้ โดยในระยะเร่งด่วนมุ่งหยุดการแพร่กระจาย (Freeze) การถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยเร่งดำเนินคดีและใช้มาตรการในเชิงป้องปราม ในระยะต่อไป เร่งขยายกฎหมายให้ครอบคลุมกรณีอื่นๆ ให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เสนอแนะให้มีการแก้ไขทั้งระบบ ทั้งการป้องกัน การติดตามการบังคับใช้กฎหมาย และการแก้ไขฎหมาย 2) มาตรการตรวจสอบและควบคุมถึงการลงทุนและการบริหารจัดการของคนต่างด้าวในรูปแบบของนิติบุคคลไทยที่เข้าถือครองที่ดิน 3) มาตรการควบคุมการจดทะเบียนนิติกรรมที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองโดยนิติบุคคลสัญชาติไทยที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นหรือลงทุน

4) การบูรณาการร่วมกันทั้งในระดับนโยบายทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่จังหวัด เพื่อให้เป็นกลไกแบบบูรณาการที่สำคัญในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ 5) การสร้างแรงจูงใจในการเฝ้าระวังการกระทำผิดของคนต่างด้าว ให้แก่คนไทย 6) มาตรการกำหนดเขตที่ดิน (Zoning) แบบเฝ้าระวัง 7) การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในนิยามคำว่า “คนต่างด้าว” ให้ครอบคลุมถึงอำนาจในการบริหารจัดการเหนือนิติบุคคลของคนต่างด้าว และสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนอำนาจในการบริหารจัดการการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น 8) ในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ อย่างแรก คือ จะมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนซึ่งมีอยู่หลายฉบับ และอีกลักษณะหนึ่ง คือ เสนอแนะให้มีการยกร่างกฎหมายกลางที่เกี่ยวกับตัวแทนอำพรางและการทำธุรกรรมอำพรางโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้

“แม้ว่าการลงทุนและการพัฒนาของเอกชนจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะต้องไม่ขัดต่อระเบียบข้อกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรจะร่วมดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม” นายทรงศัก กล่าว