เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยสถิติการเจ็บป่วยของคนไทยที่เป็นดัชนีบอกถึงผลการดำเนินงานต่างๆ ในภาพรวม จากสถิติปี พ.ศ. 2564-2566 ฐานข้อมูลออนไลน์ จากกระทรวงสาธารณสุข :https://hdcservice.moph.go.th/hdc/main/index.php พบว่า คนไทยป่วยและมารับบริการน้อยลง 26.7 ล้านครั้ง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 1.9 หมื่นล้านบาท สมควรมีการศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไปว่า จำนวนที่ลดลงเป็นเพราะเหตุปัจจัยใดบ้าง เมื่อคำนวณโดยนำเอาจำนวนครั้งการรักษาผู้ป่วยนอก เฉลี่ยต่อปีของปี พ.ศ. 2564-2565 เป็นตัวตั้ง แล้วลบโดยจำนวนครั้งการรักษาผู้ป่วยนอก ในปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีจำนวนลดลง 26,672,454 ครั้ง และจำนวนคนลดลง เท่ากับ 13,334,354 คน เมื่อคำนวณโดยนำเอาจำนวนผู้ป่วยใน เฉลี่ยต่อปี ของปี พ.ศ. 2564-2565 เป็นตัวตั้ง แล้วลบโดยจำนวนผู้ป่วยใน ในปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีจำนวนลดลง 36,150 คน และจำนวนวันนอนลดลง เท่ากับ 8,091,897 วันนอน เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ โดยเอาจำนวนครั้งของผู้ป่วยนอกและจำนวนคนของผู้ป่วยใน มาคูณกับต้นทุนต่อหน่วยของการให้บริการ จะพบว่า มูลค่าที่ประหยัดได้รวม เท่ากับ 19,384,119,956 บาท

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าวชี้แจงต่อว่า 1. ข้อมูลต้นทุนที่นำมาใช้ได้จากการศึกษาในโรงพยาบาลชุมชน ดังนั้นถ้าใช้ต้นทุนเฉลี่ยของโรงพยาบาลทุกระดับ น่าจะมียอดรวมของเงินที่ประหยัดได้สูงกว่านี้มาก 2. ข้อมูลนี้ไม่ได้นับจำนวนการเสียชีวิตของคนไทย ซึ่งเป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของนโยบายสุขภาพที่สำคัญเช่นกัน 3. การมารับบริการของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก ทั้งปัจจัยที่ตัวผู้ป่วยเอง และปัจจัยด้านระบบบริการ 4. ปัจจัยด้านผู้ป่วย เช่น ลักษณะของการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น การเลือกวิธีการรักษาตนเอง เลือกไปการรับบริการ ณ หน่วยบริการ ทัศนคติต่อบริการต่างๆ เป็นต้น 5. ปัจจัยด้านระบบบริการ เช่น ความเพียงพอและทั่วถึงของสถานบริการและบุคลากร ประสิทธิผลของบริการ กฎระเบียบที่กำหนด เช่น การจำกัดจำนวนผู้รับบริการต่อวัน การประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายที่เก็บจากผู้ป่วย เป็นต้น

“โดยสรุป คือ ในรอบ 3 ปีนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจคือ 1. คนไทยป่วยและไปใช้บริการสาธารณสุข ลดลง 26.7 ล้านครั้ง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายให้ระบบบริการ 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ ล้วนมีนัยสำคัญ ที่ต้องไปแกะหาที่มาที่ไป พบว่า 1.ควรมีการศึกษาวิจัยเชิงลึกว่า คนไทยมาใช้บริการลดลง เป็นเพราะเหตุปัจจัยใดบ้าง และแต่ละปัจจัยส่งผลต่อจำนวนครั้งของการมารับบริการมากน้อยเพียงใด 2. มีการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องแนวโน้นการเสียชีวิตของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสังเกต คือ ในรอบ 3 ปีที่อ้างอิงมา เป็นช่วงเวลาของการปลดล็อกกัญชา ให้ใช้ปลูกตามบ้าน เพื่อให้ประชาชนใช้พึ่งพาตัวเอง สมควรไปศึกษา เพิ่มเติมว่า นี่คือสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยน้อยลงหรือไม่” รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว.