นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 1/67 ว่า ที่ประชุมได้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ให้กระทรวงคมนาคม พิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในปี 68 พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน การพัฒนาและการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมถึงการส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ สนข. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมดำเนินการออกประกาศที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจาก พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับแล้ว เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสาย ตามนโยบายของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมภายในเดือน มี.ค. 69 ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก มีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างยั่งยืน เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างแท้จริง

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ประกอบด้วย 7 หมวด และบทเฉพาะกาล (45 มาตรา) ดังนี้ การกำหนดคำนิยาม (มาตรา 1-4) หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (มาตรา 5-13) หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 14-23) หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 24) หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม (มาตรา 25-28) หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม (มาตรา 29-34) หมวด 6 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา 35-36) หมวด 7 โทษทางปกครอง (มาตรา 37-40) และบทเฉพาะกาล (มาตรา 41-45)

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงเห็นชอบปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจาก 17-45 บาท เป็น 17-47 บาท โดยไม่ชะลอไปก่อน เป็นการขัดแย้งกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า การปรับขึ้นดังกล่าวเป็นไปตามสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟม. กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งปรับขึ้นทุก 2 ปี ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว แต่ทั้งนี้ตนได้พยายามเร่งรัดให้ สนข. เร่งเสนอร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการตั๋วร่วมแล้ว เพื่อให้การดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด.