วันที่ 13 มิ.ย. นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน พ.ค. 67 ว่า ดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ในรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 66 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี, กังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวและฟื้นตัวช้า ประกอบกับ ราคาพลังงานสูงขึ้น ค่าครองชีพอยู่ในระดับสูง และผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ที่อาจเพิ่มแรงกดดันทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า การจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 60.5 ลดลงจาก 62.1 ในเดือน เม.ย. 67 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 44.1 ลดจาก 45.3 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 68.4 ลดจาก 70.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 54.3, 57.6 และ 69.8 ตามลำดับ จากเดือน เม.ย. 67 ที่ 56.0, 58.9 และ 71.5

“การที่ดัชนีความลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อการเมืองในปัจจุบันเริ่มผันผวนมากขึ้นในมุมมองของผู้บริโภค แต่ความเชื่อมั่นน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้”

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ ยังไม่ปรับเปลี่ยนเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่คาดโต 2.6% เพราะเห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดในช่วงโลว์ซีซั่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐให้ได้ 70% ของงบทั้งหมด 700,000 ล้านบาท จะทำให้มีเม็ดเงินราว 400,000-500,000 ล้านบาท กระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจของทุกพื้นที่ได้ และจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป และหากมีการผูกพันงบประมาณ เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของปี 68 ได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นอกจากนี้ การเพิ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 1 ล้านคน และเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ อีกอย่างน้อย 500,000 ล้านบาท มาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ รวมถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะเข้ามาในไตรมาส 4 ก็เชื่อว่า จะทำใหเศรษฐกิจไทย มีโอกาสเติบโตได้ 3.0-3.2% ในปีนี้ ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะผันตัวจากเศรษฐกิจขาลง และผ่านจุดต่ำสุดในเดือน มิ.ย. 67

“การเมืองจะเป็นตัวพลิกผันสำคัญที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากการเมืองไม่รุนแรง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.6% แต่หากบานปลาย ก็ยากจะประเมิน ซึ่งการเมืองมีน้ำหนักถึง 60-75% เมื่อเทียบกับปัจจัยเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจสหรัฐ จีน ยุโรป มีผลต่อเศรษฐกิจไทย 25% ส่วนอีก 10% เป็นเรื่องของน้ำ ภัยแล้ง หากการเมืองไม่นิ่ง ก็จะมีผลให้ความเชื่อมั่นยังลดลงได้ต่อเนื่องอยู่ เศรษฐกิจไทยยังโตไม่โดดเด่นช่วงไตรมาส 2 และ 3 แต่หากทุกอย่างคลี่คลาย ปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน”