วันที่ 13 มิ.ย. นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภัยการเงิน 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65 จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 67 สร้างความเสียหายถึง 63,000 ล้านบาท สูงที่สุดคือหลอกลงทุน 36% หลอกโอนเงิน 28% หลอกซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล 8% โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้อายัดบัญชีม้าเกือบ 2 แสนบัญชี และ 1 ใน 3 หรือกว่า 30% เป็นบัญชีเปิดใหม่ ซึ่งยอมรับว่ายังตามหลังมิจฉาชีพ ไล่ตามไม่ทัน ทำให้ ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการเพิ่มเติม
สำหรับมาตรการเพิ่มเติม ได้ออกหนังสือเวียนให้ทุกสถาบันการเงิน ทุกธนาคารต้องปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ร่วมมือจัดการบัญชีม้า เช่น เรื่องการระงับอายัดบัญชีม้า จากเดิมอายัดแค่รายบัญชี แต่ต่อไปจะอายัดเป็นรายชื่อบุคคลทุกธนาคารทุกบัญชีของบุคคลที่มีบัญชีม้า และใครเสี่ยงเป็นบัญชีม้า ธนาคารจะเรียกเข้ามาพิสูจน์ตัวตน ปัจจุบันใช้ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ที่ส่งข้อมูลเป็นรายเดือน ซึ่งจะปรับมาเป็นส่งข้อมูลให้ทุกสัปดาห์ 4,000 รายชื่อ เพื่อป้องกันได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลจากเซ็นทรัล ฟอร์ด รีจิสตรี้ (CFR) ของไอทีเอ็มเอ็กซ์ สมาคมธนาคารไทย แลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีม้า การแจ้งคดี เส้นทางการเงิน จะถูกแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคาร ทุกธนาคารจะเห็นบัญชีเสี่ยงบัญชีม้า มีความพัวพันไม่ต้องรอข้อมูลจาก ปปง. จากเดิมธนาคารเห็นข้อมูลธนาคารของตนเองเท่านั้น เริ่มสิ้นเดือน ก.ค.นี้ และธนาคารจะจัดการตามระดับความเสี่ยง แบ่งเป็น ม้า 3 สี สีดำมีความผิดแล้วจัดการระดับเข้มข้น, สีเทา มีความเสี่ยงสูง และสีน้ำตาลอาจมีความเสี่ยง ธนาคารต้องเรียกมาพิสูจน์ตัวตน ชี้แจงแหล่งที่มาของเงิน วัตถุประสงค์ และอาจไม่เปิดบัญชีใหม่ให้
“ปัญหาคือออก พ.ร.ก.ป้องกันฯ มาแล้วมีประเด็นข้อกังวลกฎหมายทำให้การใช้ข้อมูลแลกเปลี่ยนข้อมูลไม่เต็มที่ ไม่สามารถตรวจจับหรือตีความได้ หรืออายัดแล้วมีผลแค่ 3-7 วัน และวิธีการจัดการแต่ละแบงก์ตามระดับความเสี่ยง ทำให้เกิดม้าหมุน ม้าวน ไปเปิดบัญชีใหม่อีกธนาคารได้ การจัดการบัญชีม้า ต้องเข้มข้น ไม่ให้เกิดม้าหมุนวนเวียนได้ หลังจากนี้แต่ถ้าไม่ได้มีความเสี่ยงจริง ต้องมาปลดล็อก ยืนยันตัวตนที่สาขา ต้องลำบากเพราะต้องมาพิสูจน์ตัวตน แจงที่มาของเงิน ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเส้นทางการเงินผิดปกติ”
ขณะเดียวกันได้ให้ธนาคารออกรูปแบบมีทางเลือกลูกค้ามีเครื่องมือ เช่น ล็อกเงินบัญชี ไม่ให้โอนเงินออกทางออนไลน์ และปลดล็อกยากขึ้น เพื่อป้องกันลูกค้าเผลอตกเป็นเหยื่อ ขาดสติเป็นบางช่วง และให้ปรับเปลี่ยนสแกนหน้าโอนเงินจากเดิมเกิน 5 หมื่นบาท เป็นตั้งแต่ 2 หมื่นบาทได้ ซึ่งลูกค้าปรับเลือกเอง จะเริ่มเห็นไตรมาส 4 ปีนี้
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา แนวทางป้องกันคือ ธนาคารงดส่งลิงก์ในอีเมล SMS ไม่ให้เกิดการแฮกข้อมูล ให้ยืนยันตัวตนผ่านไบโอเมทริก ตรวจจับ ต้องรวดเร็ว ตรวจสอบบัญชีธุรกรรมต้องสงสัย ให้เร็ว ตอบสนองรับมือ เพิ่มช่องทางติดต่อ พัฒนาแอปโมบายแบงก์กิ้งให้ทันสมัย จากข้อมูลจำนวนผู้เสียหายลดลงบ้างจากการร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น กูเกิลให้แจ้งเตือนถ้าโหลดแอปต่างๆ จะมีแจ้งเตือนว่ามีความเสี่ยงหลอกลวง
นอกจากนี้ร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรัฐและเอกชน ออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จัดตั้งแก้ไขเบอร์สายด่วน AOC โทร.1441 และแลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบอายัด กำหนดบทลงโทษ เปิดขาย ให้เช่าให้ยืม จำคุก 3 ปี หรือปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นธุระจัดหา โฆษณา จำคุก 2-5 ปี หรือปรับ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นางสาวอโรรา อุนนะนันทน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธปท. กล่าวว่า ถ้าเป็นบัญชีม้าสีเทา เจ้าของบัญชีต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงกับธนาคาร ชี้แจงได้ว่าแหล่งที่มาของเงิน วัตถุประสงค์ใช้เงินเป็นอย่างไร โดยของเดิมแจ้งอายัดบัญชีกับธนาคาร 3 วัน และเมื่อแจ้งความอายัดอีก 7 วัน แต่หลังจากนี้ ถ้าแจ้งใน AOC ถือว่าเป็นการรับแจ้งความจะอายัดบัญชีเป็นเวลา 7 วัน