โดย “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจงานศึกษาศักยภาพการจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจน กับ “บีไอจี” สำหรับโครงการ Hydrogen Blending Demonstration ณ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ และประเมินศักยภาพการจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจนสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้า

“กฟผ. มุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน โดยมีแผนนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าร่วมกับก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับบีไอจีในครั้งนี้มีระยะเวลาความร่วมมือรวม 2 ปี โดยจะร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ และประเมินศักยภาพการจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจนเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตไฟฟ้าในโครงการ Hydrogen Blending Demonstration กับโรงไฟฟ้าศักยภาพของ กฟผ. ทั้งในด้านวิศวกรรม การประเมินต้นทุนค่าใช้จ่าย วิเคราะห์ความเป็นไปได้ด้านเศรษฐศาสตร์ และเสนอรูปแบบการจัดเก็บและขนส่งเชิงธุรกิจที่เหมาะสม รวมถึงผลกระทบ ความเสี่ยง และมาตรการรองรับต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกมิติ”

ด้าน “ปิยบุตร จารุเพ็ญ” กรรมการผู้จัดการบีไอจี กล่าวว่า บีไอจีเดินหน้านำนวัตกรรมจากไฮโดรเจนที่บีไอจีและแอร์โปรดักส์ บริษัทแม่ของบีไอจีจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความชำนาญและเป็นผู้ลงทุนโครงการกรีนไฮโดรเจนรายใหญ่ที่สุดของโลก บีไอจีตระหนักถึงการใช้พลังงานสะอาดเพื่อร่วมผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศไทยภายใต้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ GENERATING A CLEANER FUTURE ด้วยการผลักดันการผลิตและการใช้ประโยชน์จากพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นหนึ่งใน Climate Technology เป็นแรงสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การร่วมมือศึกษาพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนนี้ยังสามารถตอบสนองแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ในการนำเอาไฮโดรเจนมาใช้ผลิตไฟฟ้าครั้งแรกในประเทศไทยและนับว่าเป็นการผลิตไฟฟ้าทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิงสะอาด

รวมถึงไฮโดรเจนคาร์บอนตํ่าจากบีไอจีที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ผลิตภัณฑ์ จากองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ว่า ปล่อยคาร์บอนลดลงร้อยละ 95 เทียบเท่าการผลิตบลูไฮโดรเจน ดังนั้นไฟฟ้าที่ได้จากการนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้านี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวตอบโจทย์เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065.