สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” ครั้งที่ 7 สร้างโอกาสอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยให้ยั่งยืนบนเวทีโลก ระดมความเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณ
ด้านการวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงขับเคลื่อนประเด็นด้านข้อมูลสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ

อาหารอนาคต4ประเภทเพิ่มมูลค่าส่งออก

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่าอาหารที่ส่งออกส่วนน้อยยังเป็นอาหารที่เป็นวัตถุดิบ ยังไม่ได้แปรรูปแต่จากข้อมูลอาหารแห่งอนาคตที่มี 4 ประเภทคือ 1.อาหารฟังก์ชัน 2.อาหารเฉพาะหรือเมดิคอลฟู้ด 3.อาหารอินทรีย์
4.โปรตีนทางเลือก อาหารทั้ง 4 ตัวเป็นอะไรที่ต้องการให้มีการให้เติบโต แต่ต้องดูว่าอยากให้มีการกระจายรายได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาอาหารแห่งอนาคตที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศซึ่งจะดีทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรในประเทศด้วย ทำให้เกิดการแข่งขัน เพราะคนต้องการดูแลสุขภาพ อย่างไรก็ตามการพัฒนาอาหารแห่งอนาคตต้องมีหลายภาคส่วนมาร่วมด้วย ลำพังความรู้งานวิจัย
ไม่เพียงพอ

ไทยแหล่งรวมโปรตีนทางเลือก

อย่างไรก็ตามมีความท้าทาย เมื่อเราเจอเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กฎระเบียบต่าง ๆ มีความเข้มงวดมากขึ้น ปศุสัตว์ ถูกเพ่งเล็งมากว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจากการทำปศุสัตว์ ประเทศที่ส่งออกเนื้อสัตว์มาก ๆ ตอนนี้เกษตรกรเริ่มเจอกฎระเบียบก่อน แต่แน่นอนประเทศที่ทำปศุสัตว์ไม่ยอมให้เกษตรกรของเขาเจออยู่แล้ว และจะลามมายังประเทศเราที่ส่งออกเนื้อสัตว์ แม้กระทั่งเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เราก็นำเข้า ดังนั้นโปรตีนทางเลือกเป็นอะไรที่สำคัญมาก ถือว่า เรื่องโปรตีนเป็นความมั่นคงทางอาหารด้วย จึงมองว่าโปรตีนประเทศไทยมีวัถตุดิบเช่นพืช ไข่นํ้า ผำ ถั่ว และเรื่องของแมลงเราสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้และต้องทำให้มีคุณภาพมีมาตรฐานและกระจายรายได้ เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทาย”

อาหารอนาคตโตปีละ12%

หิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดปี 2566 แนวโน้มอาหารอนาคตเติบโต 12 % ของมูลค่าอาหารและเครื่องดื่มการตลาด ตัวเลขส่งออกอาหารอนาคตในปี 2565 มีมูลค่า 1.42 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% และในปี 2566 มีมูลค่า 1.43 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% คาดว่าในปี 2567การขยายตัวของอาหารอนาคตจะเพิ่ม 2-3 % หรือมีมูลค่า 1.46-1.48 แสนล้านบาท โดยเป็นการส่งออกโปรตีนทางเลือกกว่า 6 พันล้านบาท สำหรับประเทศส่งออกสำคัญคือกลุ่มอาเซียน สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน

อย่างไรก็ตามอาหารอนาคตถือเป็นความท้าทาย หิรัญญาระบุว่า จากข้อมูล แผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องมือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โอกาสและความเสี่ยงจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก มีปัจจัยดังนี้ 1.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ผลจากเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีช่วยระดับคุณภาพชีวิตเช่นสุขภาพ การศึกษา แรงงานทักษะตํ่าถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ธุรกิจรับมือการดิสทรัปของเทคโนโลยีไม่ได้ 2.ความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับนานาชาติ มีการใช้กรีน เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ต้นทุนในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตํ่าลง เช่นพลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกันสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีแนวโน้มถูกกีดกันทางการค้ามากขึ้น 3.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การลงทุนจากต่างประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควร 4.ความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ ทำให้มีการกระจายความเสี่ยงของการผลิตและการลงทุนออกจากจีน ทำให้อาเซียนได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น

อาหารอนาคตต้องยึดเรื่องความยั่งยืน

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน.ด้านอาหารอนาคต สกสว. และ รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูปหรือแปรรูปเพียงขั้นต้นเท่านั้น เกษตรกรไทยจึงมีความเปราะบางสูงและมีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามเกษตรกรกลับมีต้นทุนการผลิตที่สูง การผลิตยังต้องพึ่งพาปัจจัยทางธรรมชาติ (นํ้า ที่ดิน และสภาพดินฟ้าอากาศ) ที่มีความไม่แน่นอนสูง

ดังนั้นแนวโน้มเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอาหารจะเน้นไปในเรื่องความยั่งยืน สุขภาพและโภชนาการ ความซื่อตรงและโปร่งใส รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยในการแก้ปัญหา นอกจากนี้เทรนด์ทางด้านอาหารจะเน้นไปที่อาหารสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน อาหารโภชนาการจำเพาะบุคคล โปรตีนทางเลือก รวมถึงการใช้กระบวนการใหม่ ๆ ปัญญาประดิษฐ์ การหมักแบบแม่นยำ และบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรบุคคล การวิจัยและพัฒนา กฎระเบียบและมาตรฐาน และผู้บริโภคและการค้าอีกด้วย

“ตัวอย่างอาหารอนาคตที่มีการพูดถึงมากคือ โปรตีนจากพืชประเภทถั่วต่าง ๆ ทั้งนี้ในประเทศมีการส่งเสริมให้ปลูกมากขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอ กับเรื่องการผลิตที่จะทำโปรตีนในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีโปรตีนทางเลือกที่ใช้แมลง ซึ่งมีการส่งเสริมการเลี้ยงมากขึ้น แต่เรายังต้องการมาตรฐานของการผลิต เพื่อให้ต่างประเทศเชื่อมั่นในการส่งออกโปรตีนจากแมลง” รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐดนัยกล่าวทิ้งท้าย.