สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในระยะปลูกใหม่–ระยะสร้างหัว/สะสมแป้ง รับมือโรคโคนเน่า หัวเน่า (เชื้อรา Phytophthora melonis) พบอาการใบเหลือง เหี่ยว และร่วง โคนต้นแสดงอาการเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือดำ บางพันธุ์ เช่น พันธุ์ห้วยบง 60 พบอาการโคนต้นบริเวณคอดินแตก เมื่อขุดดูพบหัวมันสำปะหลังเน่า ผ่าดูภายในเป็นสีน้ำตาล หากอาการรุนแรง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

แนวทางป้องกันและแก้ไข

1. หากพื้นที่ปลูกเป็นดินดาน ควรไถระเบิดชั้นดินดาน และตากดินไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนปลูก

2. แปลงปลูกควรยกร่อง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง

3. คัดเลือกท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรค

4. ก่อนปลูกแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 20-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 10 นาที

5. ควรจัดระยะปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะต่อการระบาดของโรค

6. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรค ถอนนำไปทำลายนอกแปลงปลูกแล้วโรยปูนขาว หรือราดด้วยสารเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 20-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร บริเวณที่ถอนและโดยรอบห่างออกไปประมาณ 1 เมตร

7. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บเศษเหง้า และเศษซากมันสำปะหลัง ไปทำลายนอกแปลงปลูก

8. ควรทำความสะอาดเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้ในแปลงที่เป็นโรค เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคอาจติดมากับเครื่องจักรกลการเกษตรนั้น

9. ในแปลงที่มีการระบาดของโรครุนแรง ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น อ้อย ข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว

ในกรณีที่พบการระบาดของโรครุนแรง ควรปฏิบัติดังนี้

1. พื้นที่ที่พบต้นแสดงอาการของโรคมากกว่าร้อยละ 50 ควรไถทิ้ง เก็บเศษซากนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วตากดิน

2. พื้นที่ที่พบต้นแสดงอาการของโรค ร้อยละ 30-50

– มันสำปะหลังอายุ 1-3 เดือน ควรไถทิ้ง เก็บเศษซากนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วตากดิน

– มันสำปะหลังอายุ 4-7 เดือน หว่านปูนขาวให้ทั่วแปลง และควรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที

– มันสำปะหลังอายุ 8 เดือนขึ้นไป ควรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที