วันที่ 12 มิ.ย. นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว แม้การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน

ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

นอกจากนี้ ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% ในปี 67 และในปี 68 ขยายตัว 3% โดยเศรษฐกิจในปีนี้ได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงกว่าคาดในไตรมาสที่ 1 ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาสที่ 2 โดยต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิต รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 0.6% ปี 67 และ 1.3% ในปี 68 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% ปี 67 และ 0.9% ในปี 68 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดกลับมาเป็นบวก และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศจากการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 67 โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย 1-3%

นายปิติ กล่าวว่า จีดีพีไทยปีนี้มีโอกาสถึง 3% ตามที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ตั้งเป้าหมายไว้ ถ้าเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ มีเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็อาจเป็นไปได้ ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อ กนง. ที่จะหารือกันกับกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะพิจาณาทุกปี โดยต้องพิจารณาร่วมกัน เป็นกระบวนการปกติ ซึ่ง กนง. ต้องดำเนินการภายใต้เป้าหมายที่กำหนดร่วมกับกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 66 มีผลกระทบจากงบประมาณล่าช้ากว่าที่คิด ทำให้แรงส่งภาคการคลังแผ่ว และสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งภาคส่งออกฟื้นตัวช้า แต่ไตรมาสแรกปี 67 มีการฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า และพบสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน ปัจจัยสำคัญจากรายจ่ายภาครัฐ การบริโภคดีกว่าคาด และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเทียบไตรมาสต่อไตรมาส เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 67 ขยายตัว 1.5% เป็นการเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว สูงกว่าศักยภาพ

“คาดการณ์จีดีพีปี 67 ไว้ที่ 2.6% จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแรงส่งดี ใกล้เคียงกับศักยภาพมากที่สุด แม้จะแผ่วลงบ้างในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจีดีพีไตรมาส 2 จะเกิน 2%, ไตรมาส 3 ขยายตัว 2-3% และไตรมาส 4 ขยายตัว 3-4% ส่วนปี 68 จีดีพีขยายตัว 3% ใกล้เคียงศักยภาพ เศรษฐกิจโดยรวมปีนี้และปีหน้าใกล้เคียงเดิมทั้งหมด ขณะที่มาตรการภาครัฐทั้งหมด มีการพิจารณารวมในประมาณการ ยืนยันภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนไปมาก ทำให้จุดยืนนโยบายการเงินสามารถรองรับและเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน”