‘มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ‘บริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด’ (PTTEP MENA Limited) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย (Sales and Purchase Agreement หรือ SPA)

เพื่อ ‘เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 10 ในพื้นที่สัมปทานกาชา’ (Ghasha) นอกชายฝั่ง ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จาก ‘บริษัท วินเทอร์แชลล์ ดีอีเอ มิดเดิล อีสต์ จำกัด’ (Wintershall Dea Middle East GmbH) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของประเทศเยอรมนี

การเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของ ปตท.สผ. ในการสร้างฐานการลงทุนที่แข็งแกร่ง ในยูเออี และการขยายการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง โดยการซื้อขายสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อย จึงสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้วของ ปตท.สผ. ได้ทันที

สำหรับ ‘แปลงสัมปทานกาชา’ ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของเมืองอาบูดาบี ในยูเออี โดยภายในปี 2573 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ในขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวยังมีแผนการดำเนินงานในการ ‘ดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ ให้ได้ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี (MMtpa) เพื่อให้สามารถ ‘เป็นโครงการผลิตก๊าซฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ (Net Zero)

“พื้นที่สัมปทานกาชา เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ยูเออีให้ความสำคัญ การเข้าร่วมลงทุนครั้งนี้ จึงเป็นอีกความก้าวหน้าสำคัญของ ปตท.สผ. ในการขยายฐานการลงทุนอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งยังช่วยเสริมประโยชน์และประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการร่วมกับโครงการสำรวจอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งบริษัทมีการลงทุนอยู่แล้ว โดยเราพร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อพัฒนาและผลักดันโครงการให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย” มนตรี กล่าว

ทั้งนี้ แปลงสัมปทานกาชายังตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 3  ซึ่งเดิมที ปตท.สผ. ได้มีการร่วมทุนอยู่แล้ว จึงเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงการร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังได้มีการลงทุนใน ‘โครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ’ และ ‘โครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย ซี’ ในยูเออี ซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ รวมถึง ‘โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติแอดนอค’ (AGP) ที่อยู่ในระยะผลิต อีกด้วย