วันที่ 12 มิ.ย. ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 12 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ โดยสินค้าส่งออกบางกลุ่มมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นและประเมินว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% ในปี 2567 และขยายตัว 3.0% ในปี 2568 เหมือนกับคาดการณ์เดิม โดยเศรษฐกิจในปีนี้ได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงกว่าคาดในไตรมาสที่ 1 ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ภาคการส่งออกในปีนี้จะยังขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง อีกทั้งสินค้าบางกลุ่มโดยเฉพาะหมวดยานยนต์เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ทั้งนี้ ต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิต รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และ 0.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดกลับมาเป็นบวก และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศจากการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำมีแนวโน้มคลี่คลาย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย

ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐปรับอ่อนค่า ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ประกอบกับปัจจัยในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับสูงขึ้นบ้างหลังตลาดปรับคาดการณ์นโยบายการเงินของไทย ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมขยายตัว ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตตามคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง

คณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นว่าการให้สินเชื่อควรสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงสนับสนุนการใช้มาตรการที่ตรงจุด เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีศักยภาพซึ่งจำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและมาตรการภาครัฐ โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า