เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ท่าอากาศยานสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นำร่องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์ส เส้นทางสมุย-กรุงเทพฯ ภายใต้โครงการ “Low Carbon Skies by Bangkok Airways” เพื่อมุ่งลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) จากการดำเนินธุรกิจทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนปฏิบัติการด้านการบิน (Airlines) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด 

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า การนำร่องใช้น้ำมัน SAF ครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ สอดรับกับทุกภาคส่วนทั่วโลกที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ในปี 2593 (Net Zero Carbon Emission 2050) และตามมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมถึงสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA) โดยสายการบินฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการใช้น้ำมัน SAF อย่างเป็นทางการในปี 68 เนื่องจาก OR มีแผนจะเริ่มผลิตน้ำมัน SAF ให้บางกอกแอร์เวย์สในปี 68 ทั้งนี้ สายการบินฯ ตั้งเป้าหมายว่าในปี 68 จะใช้น้ำมัน SAF ให้ได้ 1% ของปริมาณการเติมน้ำมัน JET A-1 ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีปริมาณการเติมน้ำมันรวมทุกเส้นทางประมาณ 10 ล้านลิตรต่อเดือน โดยจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ 80% ถ้าเทียบกับการใช้น้ำมันปกติ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า แม้การใช้น้ำมัน SAF จะมีต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 3 เท่า จากราคาน้ำมัน JET A-1 ที่ใช้ปกติ แต่การใช้ตามเป้าหมาย 1% ยังอยู่ในสัดส่วนที่สายการบินฯ สามารถบริหารจัดการได้ จึงยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าโดยสารแต่อย่างใด ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าโดยสารมีหลายปัจจัย อาทิ ค่าอะไหล่ และค่าซ่อมบำรุง จึงไม่อยากให้มองเรื่องต้นทุนน้ำมันเป็นผู้ร้ายคนเดียว สำหรับการเลือกนำร่องใช้น้ำมัน SAF กับเส้นทางสมุย-กรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นเที่ยวบินแรก เนื่องจากเส้นทางนี้เป็นเส้นทางสายหลักของบางกอกแอร์เวย์ส และเป็นเส้นทางที่ใช้ปริมาณน้ำมันเยอะที่สุด โดยการนำร่องครั้งนี้ได้เติมน้ำมัน SAF ในปริมาณ 2 ตัน เพื่อใช้ในการเดินทางจากสมุยถึงกรุงเทพฯ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน SAF ยืนยันว่าผู้โดยสารจะได้รับความปลอดภัยในการเดินทางเหมือนกับการเติมน้ำมัน JET A-1 ปกติ ซึ่งก่อนนำน้ำมันดังกล่าวมาใช้ ทางสายการบินฯ ได้มีการศึกษาผลกระทบทางด้านเทคนิคของเครื่องบินแล้ว ขณะเดียวกันบริษัท แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินแอร์บัส A319 ที่บางกอกแอร์เวย์สใช้ให้บริการอยู่นั้น ก็ยืนยันว่าสามารถใช้น้ำมัน SAF กับเครื่องบินแอร์บัสได้สูงสุด 50% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้ อย่างไรก็ตาม สายการบินบางกอกแอร์เวย์สมุ่งพัฒนา เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย “สายการบินยั่งยืน” ซึ่งการใช้น้ำมัน SAF เป็นกิจกรรมหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ โดยเมื่อปี 66 สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศจากการรักษาความเร็ว ลดความสูงของการบิน และทำให้เครื่องบินเบาขึ้น เท่ากับ 11,321 ตัน หรือปลูกต้นมะพร้าวได้ 275,591 ต้น 

ด้านนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า น้ำมัน SAF เป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับน้ำมันเจ็ต ผลิตจากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว (Used Cooking Oil) โดย SAF สามารถผสมเข้าไปกับน้ำมันเจ็ต เพื่อให้ใช้ในเครื่องบินได้โดยไม่ต้องเปลี่ยน หรือปรับปรุงเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตามในปี 68 บริษัทฯ มีแผนผลิตน้ำมัน SAF ในประเทศไทย โดยโรงกลั่นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อส่งให้กับบางกอกแอร์เวย์ส ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของกลุ่ม ปตท.