‘พลังงานแสงอาทิตย์’ ถือเป็น ‘พลังงานสะอาด’ อันเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่ ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ ด้วยข้อดีหลากหลายประการ ตั้งแต่ช่วยลดมลพิษทางอากาศและน้ำที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อน

ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ ส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ไปจนถึงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานใหม่ในภาคพลังงานสะอาดได้

ประกอบกับโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงกลายเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน พลังงานแสงอาทิตย์ในฐานะพลังงานที่มีความยั่งยืน จึงเป็นที่จับตาของตลาดโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ ‘แนวโน้มการเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์’ การครองตลาดของจีน การตอบโต้จากสหรัฐอเมริกา รวมถึงผลกระทบเชิงกลยุทธ์ต่อตลาดไทยท่ามกลางนโยบายการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

จากการประชุม COP 28 (Conference of Parties) หรือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งที่ 28 นี้ ได้มีความมุ่งมั่นในการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกให้ถึง 11,000 กิกะวัตต์ภายในปี 2030

โดยสัดส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์นั้นสูงกว่าพลังงานน้ำตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป และกลายเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุด พร้อมคาดว่าสัดส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ต่อกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด จะเพิ่มขึ้นจาก 27.9% ในปี 2024 เป็น 35.4% ในปี 2030

อีกทั้งในส่วนของราคาแผงโซลาร์ที่ลดลง ก็นับเป็นเหตุผลสำคัญในการเร่งขยายตัวของพลังงานแสงอาทิตย์ โดยราคาแผงโซลาร์นั้นลดลงไปเกือบ 90% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา จาก 1.07 ดอลลาร์ต่อวัตต์ในปี 2012 เหลือเพียง 0.12 ดอลลาร์ต่อวัตต์ในปี 2024 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก 2023 ถึง 2024 ได้มีการลดราคาจาก 0.24 ดอลลาร์ต่อวัตต์ เหลือ 0.12 ดอลลาร์ต่อวัตต์

ซึ่งการลดลงของราคาไปตามทิศทางของ ‘Moore’s Law’ ที่การพัฒนาเทคโนโลยีจะทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลงอย่างทวีคูณ การลดต้นทุน และอัตราการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจาก ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดการณ์ว่า แนวโน้มการลดลงของราคาอาจมีอัตราที่ต่ำลง เนื่องจากการผลิตแผงโซลาร์มีแนวโน้มที่จะชะลอตัว

ด้าน ‘ประเทศจีน’ ผู้นำตลาดโลกด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในการติดตั้งและการผลิตแผงโซลาร์ มีการติดตั้งแผงโซลาร์มากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกรวมกัน การครองตลาดแผงโซลาร์ของจีนนั้นครอบคลุมถึงห่วงโซ่อุปทานของการผลิตแผงโซลาร์ทั่วโลก ผ่านการสนับสนุนของรัฐบาลจีนทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่ถูกลง ซึ่งส่งผลให้เกิดอุปทานล้นตลาดทั่วโลก

ทำให้ราคาของแผงโซลาร์ทั่วโลกลดลงเป็นประวัติการณ์ ในปี 2023 ซึ่งทางจีนได้ผลิตมากกว่าเท่าตัวของความต้องการทั่วโลก และคาดว่าจะถือครองความสามารถในการผลิตกว่า 80% ของแผงโซลาร์ทั้งโลกในระยะสั้น เนื่องจากบริษัทผลิตแผงโซลาร์ของจีนได้ลงทุนในหลายภูมิภาคทั่วโลก

ด้วยความสามารถในการผลิตแผงโซลาร์ของจีนในปริมาณที่สูง และราคาที่ต่ำนั้นสร้างความกังวลต่อ ‘สหรัฐอเมริกา’ ส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องออกมาตรการป้องกันการนำเข้าแผงโซลาร์จากจีน ในปี 2012 โดยได้มีการกำหนดภาษี ‘Anti-dumping Duties’ และ ‘Countervailing Duties’ (AD/CVD) กับแผงโซลาร์ที่ผลิตจากจีน

มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต้อการนำเข้าแผงโซลาร์จากจีนมายังสหรัฐฯ จากเดิมในปี 2011 ที่สหรัฐฯ ได้มีการนำเข้าแผงโซลาร์จากจีนถึง 59% ทว่าในปี 2023 กลับลดลงเหลือเพียง 0.06% ส่งผลให้ในปัจจุบัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กลายเป็นผู้นำในการนำเข้าแผงโซลาร์ของสหรัฐฯ แทนประเทศจีน’ ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

ทำให้ต่อมาในปี 2022 สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมาย ‘Inflation Reduction Act’ (IRA) เพื่อสนับสนุนตลาดภายในประเทศ  โดยให้เงินอุดหนุน พร้อมออกสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ผลิตแผงโซลาร์ในประเทศและผู้ที่ติดตั้งแผงโซลาร์ ซึ่งนำไปสู่ปริมาณการติดตั้งแผงโซลาร์ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในปีถัดมา

ทว่า ‘Bloomberg NEF’ ก็ได้ออกมาคาดการณ์ว่า การเติบโตของตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐฯ จะช้ากว่าภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากราคาโมดูลของสหรัฐฯ ยังคงสูงกว่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 180% ซึ่งแพงกว่าการนำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เหล่านี้ส่งผลให้ ‘ผู้ส่งออกแผงโซลาร์ของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันของสหรัฐฯ และจำต้องเผชิญกับการแข่งขันในการบุกตลาดอื่น ๆ’ จึงต้องพัฒนากลยุทธ์ใหม่สำหรับการส่งออกแผงโซลาร์ เนื่องจากการส่งออกการส่งออกของแผงโซลาร์ของไทยนั้นมุ่งเน้นไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 97.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของแผงโซลาร์ไทย

อีกทั้งในส่วนของขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทย จะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อไม่ถูกเรียกเก็บภาษี Anti-dumping เท่านั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีเหล่านี้ ผู้ผลิตแผงโซลาร์ในประเทศไทยต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่เข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องสำรวจตลาดส่งออกแผงโซลาร์ในภูมิภาคอื่น ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากสหรัฐฯ มีการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศ ประกอบกับสภาวะความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กับจีน

อย่างการเพิ่มภาษีล่าสุดของสหรัฐฯสำหรับแผงโซลาร์จากจีนจาก 25% เป็น 50% ซึ่งนับว่ามีผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากจีนส่งออกถึงสหรัฐฯ เพียง 0.06% เท่านั้น

นอกจากนี้ การขยายความสัมพันธ์กับประเทศที่มีการส่งออกอยู่แล้ว ยังเพิ่มโอกาสทางการค้าได้ อาทิ ‘แคนาดา’ ที่ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 4 ของประเทศไทย และประเทศไทยเองก็เป็นผู้จัดหาแผงโซลาร์อันดับสองของแคนาดา

กล่าวคือ แคนาดายังจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero’ ของประเทศ นั่นหมายความว่า ต้องการแผงโซลาร์ที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงเป็นโอกาสการขยายตลาดการส่งออกแผงโซลาร์

ทั้งนี้ การกระจายจำนวนแผงโซลาร์บางส่วนของการส่งออกไปสนับสนุนตลาดในประเทศนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ แม้ว่าตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยจะยังไม่เพียงพอต่อการรองรับการส่งออกทั้งหมด

ทว่าหากผู้ส่งออกแผงโซลาร์ในไทยหันมาให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศ ก็อาจเป็นการช่วยเพิ่มการขยายตัวของตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ให้เพียงพอต่ออนาคตได้ ของประเทศได้

ขอบคุณข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย