โดยทางสภาการศึกษาและคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร Unicef ได้ร่วมกันจัดทำการวิจัยเรื่อง “ความจำเป็นของหลักสูตรโลกร้อน” มาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มี รมต. ท่านใดปักธงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในช่วงที่ผู้อำนวยการ UN เพิ่งจะประกาศว่า มวลมนุษยชาติได้ก้าวผ่านยุคโลกร้อนไปแล้ว ตอนนี้เราอยู่ในยุคโลกเดือด สภาการศึกษาจึงจัดวงเสวนาพูดคุยกันเรื่องวิกฤตินี้อีกครั้ง

เริ่มจาก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้เปิดประเด็นเรื่อง “วิกฤติโลกร้อน กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” การใช้วิกฤตินี้สร้างโอกาสใหม่ทางการศึกษา เริ่มจาก Mindset จนถึง Skillset ของประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ทุก ๆ ศาสตร์เชื่อมโยงกัน การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมก็เชื่อมโยงกัน แต่ระบบการศึกษาไทยยังแยกส่วนกัน ต่อด้วยตัวผู้แทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ที่มาบอกเล่าประสบการณ์ที่ต่างคนต่างช่วยกันผลักดันเรื่องนี้คนละไม้คนละมือมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 แต่ก็ทำได้แค่โครงการเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามกำลัง และยังไม่ต่อเนื่องกับยังไม่ยั่งยืน ที่จะต้องรอภาวะผู้นำของท่าน รมต. ศึกษา หรือ รมต. อว. ปักธงเอาจริงกับเรื่อง Climate Education น่าจะเกิดสึนามิทางการศึกษาอย่างที่รัฐบาลอยากเห็น ปิดท้ายด้วย น้องมาเน่-อัชมานี เจ๊สือแม กับ น้องมาย-ภิญาดา เขจรไลย์ กรรมการเยาวชนที่ปรึกษา Unicef รวมถึงน้อง ๆ อีกหลายคน อาทิ น้องกระติ๊บ-ณัฐธิดา รัตนสวัสดิ์ และ น้องโฟกัส-สรกฤช รื่นภิรมย์ เยาวชน Unicef โครงการ พลิกโฉมการศึกษาไทย โดยมี น้องผิง-พลอยนภัส เจริญคชฤทธิ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วมของ Unicef เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ น้อง ๆ เยาวชนเหล่านี้ได้เล่าถึงความยากลำบาก และความเปราะบางของเยาวชนในต่างจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด เช่น ไปโรงเรียนไม่ได้ช่วงมรสุม บางที่นํ้าท่วม บางที่ดินถล่ม และหน้าร้อนที่ผ่านมาก็ร้อนจัด จนแทบเรียนไม่รู้เรื่อง ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นปิดโรงเรียนกว่า 20,000 โรง เหมือนกับกรณีประเทศฟิลิปปินส์ แต่ก็ลำบากไม่แพ้กัน เพื่อน ๆ ผู้นำเยาวชนต่างลุกขึ้นมาทำโครงการต่าง ๆ มากมาย แต่หาทุนสนับสนุนยาก ทำได้แค่เล็ก ๆ ไม่ต่อเนื่อง และน้อง ๆ ถามว่าการเรียนรู้ที่ทันสมัยแบบนี้ทำไมต้องเรียนกันนอกโรงเรียน และหลายคนเรียนรู้จากสื่อ เช่น Sustainable Daily ของเดลินิวส์ แต่ที่จริงแล้วอยากเรียน Climate Education จากการศึกษากระแสหลักในโรงเรียน อยากให้ท่าน รมต. กำหนดเป็นนโยบาย และยังทิ้งท้ายไว้อีกว่า ถ้าเมื่อไรจะทำจริง อย่าลืมการมีส่วนร่วมของเยาวชน พวกน้อง ๆ จะชวนเพื่อน ๆ มาเป็นอาสาสมัคร เพื่อมาช่วยกันคิดช่วยกันพัฒนาหลักสูตร และขบวนการเรียนรู้ ผู้ใหญ่จะได้ไม่โดดเดี่ยว…จับมือกันไว้แล้วไปด้วยกัน และในเมื่อเยาวชนเสนอตัวเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่ผู้ใหญ่จะสนับสนุน Climate Education อย่างจริงจัง.