โดย 2-3 ปีก่อนหน้านั้น ในการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนมีข้อสรุปร่วมว่า Climate Education and Action เป็นสิ่งจำเป็น และ UN ขอร้องให้ประเทศสมาชิกช่วยกันผลักดันหลักสูตรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้อยู่ในการศึกษากระแสหลัก และต้องเรียนต้องฝึกนิสัยกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล แต่การเรียนรู้เรื่องโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม ควรเรียนในโรงเรียนหรือในป่า ในอุทยานจริง ๆ ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน

ผมเห็นงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตจุฬาฯ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่เป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกและตอบโจทย์ในเรื่องที่เราถกเถียงกันอยู่ โดยนิสิต พริมา อุทินทุ นำเสนอ “โครงการ Ranger School โรงเรียนผู้พิทักษ์ป่า” เธอเล่าว่า ผู้พิทักษ์ป่า ไม่ได้หมายถึงแค่เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยาน แต่หมายรวมถึงทุกคน เช่น ชาวบ้านรอบอุทยาน นักธุรกิจที่ประกอบการค้าในพื้นที่ เยาวชน และครอบครัว รวมถึงนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินป่า ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทุก ๆ คนก็ควรทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่า โดยโครงการโรงเรียนผู้พิทักษ์ป่าได้เลือกบริเวณ “อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด” ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าโลก Ramsar Site ซึ่งมีครบทั้งป่า เขา ถํ้า พื้นที่ชุ่มนํ้า และอุทยานทางทะเล จึงสามารถเรียนรู้ได้หลากหลาย โดยกำหนดพื้นที่โรงเรียนอยู่ที่ “หาดสามพระยา” ที่กรมอุทยานได้สร้างอาคารค่ายการเรียนรู้ทิ้งไว้ แต่ยังไม่สมบูรณ์

สำหรับ “หลักสูตรเบื้องต้น” ก็จะมีหลักสูตรชื่อ 1.Park Ranger สำหรับนักศึกษาวนศาสตร์ที่อยากสมัครมาเป็นผู้พิทักษ์ป่าของกรมอุทยาน 2.Park Ranger Commander สำหรับ Reskill-Upskill ผู้พิทักษ์ป่าที่มีอยู่ และเตรียมเลื่อนชั้นเป็นหัวหน้า 3.Community Ranger สำหรับชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ อุทยานที่ต้องช่วยรัฐดูแล โดยเปลี่ยนจากผู้ที่เคยบุกรุกลักลอบหาของป่ามาเป็นมัคคุเทศน์อาสา เพื่อหารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 4.Sustainable Ranger สำหรับคนทำงานในองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน SDG 5.Nature Traveler สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่มาเข้าค่ายกับพ่อแม่เป็นครั้งแรก สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจกับธรรมชาติ 6.Nature Explorer เป็นค่ายเยาวชนสำหรับโรงเรียนต่าง ๆ ที่เรียน Climate Education ในห้องเรียนแล้ว มาเติมเต็มประสบการณ์ และ 7.Survival สำหรับวัยรุ่นที่จะเรียนรู้การเอาชีวิตรอดในยุคโลกเดือด ที่ภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ

นอกจากนี้ยังออกแบบผังบริเวณโรงเรียนผู้พิทักษ์ป่าต้นแบบ และพื้นที่ตัวอย่างท่องเที่ยวผจญภัยถํ้าไทร ที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ชุมชนกับตลาดท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชาวบ้าน รวมถึงมีการปรับภูมิทัศน์สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติบึงบัว ให้เหมาะสมกับการเป็นห้องเรียนธรรมชาติ ตลอดจนสร้างจุด Check In ใหม่ ๆ และมีการออกแบบพื้นที่ดูนกในแบบที่เป็นมิตรต่อสัตว์และไม่รบกวนธรรมชาติ พร้อมนวัตกรรมการออกแบบอีกมากมาย

ถ้าโครงการ “Ranger School ต้นแบบ” เกิดขึ้นได้จริง และขยายผลไปยังอุทยานในภูมิภาคต่าง ๆ เชื่อว่า จะเป็นนวัตกรรมส่งเสริม Climate Education ที่ UN บอกว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโลกยุคนี้ ทั้งนี้ รอชมนิทรรศการผลงานของนิสิตภูมิสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้เร็ว ๆ นี้.