แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาวะโลกร้อนหรือโลกเดือดเกิดจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เราทุกคนปล่อยสู่ชั้บรรยากาศ เหมือนเราอยู่ในเรือนกระจก ที่พอแสงส่งผ่านลงมา ความร้อนระบายไม่ได้ก็จะสะสม จนอุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกปี ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจตรงกัน การแก้ปัญหาและช่วยพามวลมนุษยชาติออกจากวิกฤตินี้ ไม่เพียงแต่ต้องเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศที่พวกเราร่วมกันทำลายมาอย่างต่อเนื่องหลายร้อยปี แต่สิ่งสำคัญ คือทุกคนต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวอง เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างเร่งด่วน

แล้วเราจะเริ่มต้นอย่างไร? ขั้นแรก ตระหนักรู้ก่อนว่าแต่ละวันเราปลดปล่อยคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน ผมมักจะถามผู้คนที่พบเจอในงานประชุมสัมมนาเรื่องภาวะโลกร้อนว่า 1.คุณรู้ไหมว่าแต่ละปีคุณปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศกี่ตัน 2.คุณรู้หรือไม่ว่าคุณต้องควบคุมให้ปล่อยคาร์บอนได้ไม่เกินกี่ตัน ที่จะไม่ทำให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และความจริงที่แสนเจ็บปวด คือ แม้แต่คนที่สนใจเรื่องโลกร้อนกว่า 95% ไม่ทราบ ไม่ได้คำนวณ ไม่ได้ควบคุม ผมถามเพื่อน ๆ ผู้บริหารความยั่งยืนในบริษัทใหญ่ ๆ ซึ่งถือว่า
พวกเขาลํ้าเรื่องนี้กว่าใคร แต่คำตอบที่ได้เหมือนกันคือ ไม่ทราบ และไม่ได้คำนวณ

ผมมักจะเล่านิทานโลกร้อนให้เพื่อน ๆ ฟังว่า ในโลกอนาคตผู้ปกครองกาแลคซี่ได้ประกาศกฎเหล็กว่า ประชากรในกาแลคซี่ของเขานั้น จะถูกจำกัดการปลดปล่อยคาร์บอนไม่เกินคนละ 2 ตันต่อปี มีชิปฝังไว้ตั้งแต่เกิด ข้อมูลคาร์บอนจะถูกส่งไปยังรัฐบาลกลางของกาแลคซี่ และถ้าเกินหรือมีพฤติกรรมผิดปกติ หุ่นยนต์แอนดรอยการ์ดจะมาจับไปลงโทษทันที โรงเรียนในยุคของเขามีการสอนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล ให้ใช้ชีวิตแบบคาร์บอนตํ่า เขาได้ออกแบบผังกาแลคซี่ใหม่ที่มีการสัญจรด้วยขนส่งมวลชนพลังงานสะอาด จักรยานไฮโดรเจน หรือเดินด้วยรองเท้าแม่เหล็กไฟฟ้าผ่อนแรง เพื่อให้กาแลคซี่มีค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนไม่เกิน 2 ตันต่อประชากร “2 ตันคือตัวเลขสำคัญที่ต้องจดจำและต้องควบคุม” เพื่อไม่ให้โลกร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราปลดปล่อยคาร์บอนกี่ตัน? มีวิธีคำนวณง่าย ๆ ใน App ที่พัฒนามาจนใช้งานสะดวก และมีความแม่นยำมากขึ้น อาทิ NetZero Man และ Zero Carbon ที่คนไทยเป็นผู้พัฒนา แต่มีคนรู้จักและนำไปใช้งานจริงน้อยมาก หวังว่าท่านผู้อ่านจะไป Download เพื่อคำนวณคาร์บอนของท่านดูนะครับ

ผมลองประมวลผลจากข้อมูลต่าง ๆ พอประมาณได้ว่า คนไทยทั่วไปที่อยู่ในเมือง ขับรถบ้าง ใช้รถสาธารณะบ้าง มีบ้านหลังเล็ก ๆ หรือคอนโดมิเนียมขนาดทั่วไป คนเหล่านี้จะปล่อยคาร์บอนราว 6-10 ตันต่อปี คนชนบทที่ใช้วิถีชีวิตแบบ slow life จะปล่อยคาร์บอนราว 1.5-3 ตันต่อปี เศรษฐี นักธุรกิจ หรือผู้มีกิจการที่ต้องเดินทางทั้งในและต่างประเทศบ่อย ๆ ด้วยเครื่องบินจะปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่า 20 ตันต่อปี เทียบเท่าผู้คนในยุโรปและอเมริกา ส่วนชาวแอฟริกาที่มีวิถีชีวิตแบบชนเผ่า จะปลดปล่อยคาร์บอนน้อยมากแทบเป็น 0 หรือไม่เกิน 1 ตัน และผมเองนั้น ขนาดที่ระมัดระวังอย่างมาก ก็ยังปล่อยคาร์บอนราวปีละ 5-8 ตัน ซึ่งเกิน 2 ตันไปมาก นับเป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างปัญหาโลกเดือดเช่นกัน แล้วเราจะทำอะไรได้อีก

นอกจะต้องตระหนักรู้ ขั้นที่สอง ต้องมีแผนลดการปลดปล่อย ซึ่งผมมีแผนที่จะต้องทำให้ลดลงทุกปี มีตารางต่าง ๆ ที่ต้องคอยควบคุมว่า แต่ละเดือนทำอะไรได้ อะไรไม่ควรทำ เหมือนแผนการเงินเลยก็ว่าได้ ต้องมีวินัย และคอยควบคุมพฤติกรรมตัวเองอย่างเข้มข้น ไม่ทำตามอำเภอใจตามกิเลสของนักบริโภคนิยม

ขั้นที่สาม เมื่อยังลดลงไม่ได้ตามเป้าหมายในทันที ก็ต้องหาแหล่ง offset ด้วยการปลูกต้นไม้ชดเชย การปลูกต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น จะดูดคาร์บอนได้ราว 20 กิโลกรัม ซึ่งผมต้องปลูกปีละ 300-400 ต้น ซึ่งหมายความว่าจะต้องปลูกวันละต้น ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายผมต้องหาเงินไปซื้อกองทุนที่ชดเชยคาร์บอน ซึ่งในปัจจุบันมีกองทุนดี ๆ มากมาย แต่ส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ อยากให้รัฐบาลไทยส่งเสริมตลาดชดเชยคาร์บอนของไทย เพื่อนำเงินไปสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ให้ปลูกและดูแลป่าอย่างยั่งยืน หรือพัฒนาโครงการสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดต่าง ๆ ให้มากขึ้น และรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง รวมถึงองค์กร ด้วยการ “รู้-ลดชดเชย” แล้วเราจะรอดตายจากภาวะโลกร้อนด้วยกัน.