ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไปจนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ส่งผลให้ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ (Sustainable Development) กลายเป็นประเด็นสำคัญที่หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘องค์กรธุรกิจ’ จำเป็นจะต้องให้ความสนใจ และเข้ามามีบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคม

เช่นเดียวกันกับ ‘บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด’ หรือที่คุ้นเคยกันดี ในชื่อ ‘เชฟรอน’ (Chevron) ได้ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคมร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ภายใต้กรอบกลยุทธ์ 4 Es คือ ‘การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม’ (Environment & Energy Conservation) ‘การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต’ (Economic Development) ‘การศึกษา’ (Education) และ ‘การส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม’ (Employee Engagement)

ดังที่ได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อย่าง ‘โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพารา สู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการร่วมมือกับ สถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงเกิดเป็นโครงการ ‘เชฟรอนพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ยางท้องถิ่น’ ในปี 2558 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการใช้กระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ก๊าซชีวภาพและห้องรมควันยางแผ่นประหยัดพลังงาน ณ สหกรณ์บ้านทรายขาว และสหกรณ์ยูงทอง จังหวัดสงขลา ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG: Bio-Circular-Green) ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว  

ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้พัฒนาด้วยการประยุกต์ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดค่าไฟฟ้าในการผลิตยางแผ่น และหมุนเวียนการใช้น้ำทิ้งจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพ โดยนำมาบำบัดและหมักเป็นก๊าซชีวภาพในระบบปิด สามารถขจัดกลิ่นเหม็นรบกวน ทั้งยังนำก๊าซที่ได้ไปใช้ในการรมควันยางแผ่นร่วมกับไม้ฟืน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากบ่อบำบัดน้ำเสียได้  นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำทิ้งที่อุดมด้วยสารอาหาร ไปใช้เป็นปุ๋ยน้ำแก่สวนยางพาราโดยรอบ 

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด ตั้งแต่ช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำยางในสวนยางพารา ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพยางแผ่นรมควัน ตลอดจนทำให้กระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเพาะปลูกและการผลิตยางพารา ได้มากถึง 425 ตัน/ปี ขณะที่ก๊าซชีวภาพที่ผลิตออกมา ยังช่วยลดการใช้ฟืนได้ถึง 30%โดยประมาณ ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายของสหกรณ์ฯ ได้ออยู่ที่ 130,000-180,000 บาท/ปี 

ต่อมาในปี 2565 จึงได้ต่อยอดสู่ ‘โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ ในปัจจุบัน ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น โดยผลักดันให้สหกรณ์ยูงทองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของยางแผ่นรมควัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองการจดทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization) และดำเนินการประเมินความเป็นไปได้ในการทำคาร์บอนเครดิตของสหกรณ์ ตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ของประเทศไทย เพื่อนำสหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทอง ให้ก้าวไปสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แห่งแรก

ทั้งนี้ ‘เชฟรอน’ ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ ตลอดการดำเนินงาน มาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยงบประมาณรวมกว่า 10.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันในระดับชุมชนสู่เป้าหมายความยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนในระยะยาว

นอกจากนี้ เชฟรอน ในฐานะองค์กรธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่ของการดำเนินธุรกิจและการรับผิดชอบสังคม ยังเล็งเห็นความสำคัญในเรื่อง ‘การศึกษา’ ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าแก่ประเทศ โดยได้ สนับสนุนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท 

นอกจากการสนับสนุนการก่อสร้างและพัฒนาสถานที่แล้ว เชฟรอนยังร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม ให้กับประชาชนและเยาวชนในจังหวัดสงขลา และจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเพื่อสังคมของบริษัท โดยโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอนครอบคลุมในทุกมิติ อาทิ

การก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางดาราศาสตร์และการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2561 เพื่อให้บริการวิชาการทางด้านดาราศาสตร์ให้กับสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ และประเทศใกล้เคียง รวมงบประมาณกว่า 13 ล้านบาท

นิทรรศการดาราศาสตร์ภายในอาคาร (Indoor Exhibition) เน้นการสร้างฐานการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ จำนวน 14 โซน เพื่อให้นักเรียนและผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้เข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับดาราศาสตร์ผ่านนิทรรศการที่มีชีวิต และสามารถสัมผัสและทดลองได้อย่างใกล้ชิด

นิทรรศการดาราศาสตร์ภายนอกอาคาร (Outdoor Exhibition) เสริมสร้างการเรียนรู้ของเยาวชนที่เข้ามาทัศนศึกษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถรองรับผู้เข้าชมจำนวนมากและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ของหอดูดาวสงขลา พร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมดาราศาสตร์ (Road Show Exhibition) มุ่งเน้นการจัดคาราวานเผยแพร่ความรู้ทางดาราศาสตร์ให้กับโรงเรียนและสถานที่ที่สำคัญในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร เพื่อกระจายโอกาสการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้เกิดความตระหนักและตื่นตัวทางดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น

กิจกรรมค่ายเยาวชนคนดูดาวเท้าติดทะเล เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้กับเยาวชนอายุตั้งแต่ 15-19 ปี จากทั่วประเทศ ได้เรียนรู้เรื่องการดูดาว การสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า และฝึกติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ด้วยตนเอง ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

และ โครงการสนับสนุนก่อสร้างลานเอนกประสงค์ ในปีพ.ศ. 2565 สำหรับจัดกิจกรรมดูดาวกลางแจ้ง และกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่นๆ

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ยังได้ร่วมมือกับ ‘เทศบาลนครสงขลา’ ‘องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา’ และ ‘มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย’ ในการดำเนินกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้ ‘สำนักงานภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม’ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมในเมืองเก่าสงขลา และเป็นพื้นที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนสงขลา รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ด้านประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของวิถีชุมชนคนสงขลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนการขับเคลื่อนเมืองสงขลาสู่เมืองมรดกโลก

โดยเชฟรอน ได้เข้าไปมีบทบาทในการฟื้นฟูบริเวณถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ซึ่งเป็นถนนสายหลักของย่านเมืองเก่าสงขลา ผ่านการบูรณะอาคารโบราณ และการจัดทำป้ายสื่อความหมายให้กับร้านดั้งเดิมบนถนนนางงาม เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดกิจกรรมให้คนท้องถิ่นเห็นคุณค่าและความสำคัญของมรดกศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พลิกฟื้นย่านเมืองเก่าให้กลายเป็นจุดแลนด์มาร์คของเมืองสงขลา

ทั้งนี้ ด้วยเป้าหมายระยะยาวในการอนุรักษ์เมืองเก่าสงขลา และการส่งเสริมการเรียนรู้และท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ จึงเกิดเป็น ‘โครงการคิดบวกดี’  (Kid+Dee) และการก่อสร้าง ‘ศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี’ (Kid+Dee @ Historic Center)  เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ และขับเคลื่อนการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า ตลอดทั้งเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมและวงเสวนาวิชาการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจและการรับรู้เรื่องราวของย่านเมืองเก่าให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่มาเยี่ยมชมย่านเมืองเก่าสงขลา

โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เชฟรอนได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ รวมทั้งสิ้น 6.3 ล้านบาท แก่ภาคีเมืองสงขลาสมาคม เพื่อสนับสนุนภารกิจในการอนุรักษ์เมืองเก่าสงขลา และต่อยอดสู่การเป็นเมือง ‘มรดกโลก’ ผ่านโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘โครงการหนูแมวอินเลิฟ’ ณ ลานประติมากรรมหนูแมวมินิมอล (หาดชลาทัศน์) จุดเช็คอินแห่งใหม่ ซึ่งจะปรับโฉมรูปปั้นหนูแมวไปตามเทศกาลสำคัญในจังหวัดสงขลา ‘โครงการถนนศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หลาดแสงดาว’ โดยจัดพื้นที่แสดงกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านศิลปะ ดนตรีและวัฒนธรรมของเยาวชน นิสิตนักศึกษา ที่เข้าถึงง่าย และการออกร้านเปิดบ้านของชาวบ้านในชุมชน

กระทั่งสนับสนุนการตั้งพื้นที่นิทรรศการมัสยิดบ้านบน์ (Ban Bon Masjid Exhibition) ที่รวบรวมประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และของอร่อยย่านชุมชนมุสลิม ผ่านการนำเสนอ ‘ตลาดบ้านบน’ ไปจนถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรม ‘Music and Night at the Museum’ ของทุกปี เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวและชาวสงขลาได้เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ในเวลากลางคืน พร้อมกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงขลา รับฟังดนตรี จับจ่ายสินค้าชุมชนสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้เกิดแก่คนในชุมชน