เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทองในกรุงเทพมหานครเข้ายื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เพื่อเรียกร้องขอให้ช่วยเหลือหลังได้รับผลกระทบจากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2567 ทำให้คลินิกบางแห่งไม่ส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาเหมือนแต่ก่อน บางคลินิกถึงขนาดตั้งกล่องบริจาค พร้อมแนบรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากคลินิกไม่ส่งตัวเบื้องต้น 361 รายชื่อ โดยมี นายกอง ดร.ตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข รับเรื่องร้องเรียนแทนรมว.สาธารณสุข

ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทอง กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการปรับรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกในกทม. ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ก็เกิดปัญหาคลินิกไม่ยอมออกใบส่งตัวให้โรงพยาบาลแม่ข่าย ทั้งๆ ที่คลินิกไม่มีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น พวกตนที่มายื่นเรื่องร้องทุกข์ คือ คลินิกแห่งหนึ่งย่านสุทธิสาร บ่ายเบี่ยงออกหนังสือส่งตัวโดยใช้เหตุผลต่างๆ มีผู้ป่วยโรคหัวใจ ทางโรงพยาบาลแม่ข่ายนัดรักษาต่อเนื่อง กายภาพบำบัด แต่คลินิกไม่ส่งตัว ทั้งๆที่ไม่มีศักยภาพ รวมถึงอีกเคสลูกอายุ 1 ปีที่เป็นโรครักษายาก ต้องไปโรงพยาบาลแม่ข่ายเช่นกัน แต่กลับไม่ยอมส่งตัว ปัญหาที่เกิดขึ้น พอโทรหาสายด่วน 1330 สปสช. เพื่อประสานซึ่งคลินิกบางครั้งยอม แต่หลายครั้งไม่ยอม โดยเฉพาะหากต้องรักษารพ.ใหญ่นานก็จะไม่ยอมออกใบส่งตัวเลย กรณีที่ยอมออกใบส่งตัวให้ ก็จะออกใบแบบวันต่อวัน ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยเสียเวลาเพิ่มขึ้นในการมาขอใบส่งตัวทุกครั้ง ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้

ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในการส่งตัวนั้น ปกติสปสช.จะให้งบประมาณไปก่อน 1 ก้อนแล้ว เมื่อมีการส่งตัวคลินิกจะต้องจ่ายครั้งละ 800 บาทต่อการส่งตัว 1 ครั้ง ส่วนที่เหลือสปสช.จะรับผิดชอบเอง แต่คลินิกไม่ยอมจ่ายแล้วผลักภาระให้ประชาชน ด้วยการตั้งกล่องรับบริจาค ราวๆ เดือน เม.ย.-พ.ค. ตอนแรกกำหนดชัดเลยว่า “ขอรับบริจาค 800 บาทเพื่อให้คลินิกได้ไปต่อ” แต่ตอนหลังเอาออก เขียนว่าตามความสมัครใจ แต่ก็เป็นอันรู้ว่า ต้องบริจาค หากไม่บริจาคก็ไม่ได้รับใบส่งตัว บางคนบริจาคแล้วไม่ได้ใบส่งตัวก็มี อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณเดือนกว่าๆ ได้ยกเลิกการบริจาคไป เพราะถูกร้องเรียน ตนการกระทบแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะทำเหมือนให้ประชาชนร่วมจ่าย ซึ่งตนไม่มีปัญหา ต่ต้องทำให้ชัดเจน เป็นไปตามกฎหมาย ขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ทำระบบการจัดการคลินิกให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะกทม.ซึ่งมีปัญหามากที่สุด ไม่ใช่ปรับรูปแบบการเงินทุกครั้งจะต้องมีปัญหากับผู้ป่วย  

ด้านนายกองตรี ดร.ธนกฤต  กล่าวว่า เรื่องนี้ตนรับเรื่องไว้ และมอบให้กองกฎหมายสบส.ลงไปตรวจสอบ ซึ่งต้องดูว่า คลินิกนั้นมีข้อขัดข้องอะไรหรือไม่ แต่ก็ต้องดูด้วยว่า ขอขัดข้องนั้น กับความเจ็บป่วยของประชาชนต้องแยกกัน ว่าอันไหนคือความสำคัญ หากมีการดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักวิชาชีพต้องมีการลงโทษ ดังนั้น ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคลินิกตามอำนาจหน้าที่  โดยให้ตรวจทุกแห่ง ซึ่งมีอยู่กว่า 200 แห่งทั่วกรุงเทพ ตรวจไม่นานก็ครบ  

“รมว.สาธารณสุข และตนเพิ่งเข้ามาบริหารงานที่กระทรวงสาธารณสุข และได้เข้าร่วมประชุมกับสปสช.แล้ว เราเห็นแล่วว่า วิธการแก้ปัญหาเขาเป็นอย่างไร แต่ก็ได้ให้ใช้แนวทางเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการใหม่ โดยใช้เครื่องมือกฎหมายเข้ามาดูแล เพราะถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไปแล้วเกิดผู้ป่วยเสียชีวิตจะทำอย่างไร เพราะบางคนไปเจอว่าต้องรอ 3 เดือน 5เดือน 6 เดือนค่อยส่งตัว แล้วคนที่เป็นโรคหนักๆ จะอยู่ได้อย่างไร อย่างคนต้องทำบอลลูนหัวใจ แล้วไม่ออกใบส่งตัวให้เขาจะทำอย่างไร” นายกองตรีธนกฤต กล่าว