เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 มิ.ย. 67 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ในระดับอำเภอ ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบการคัดเลือก สว. ระดับอำเภอ ของเขตปทุมวัน โดยระบุว่า พบความผิดปกติของการเลือก สว.ในรอบแรกซึ่งพบว่ามีบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งได้ส่งพนักงานจำนวน 9 คนลงสมัครในกลุ่มอาชีพหนึ่ง ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้สมัครรวม 15 คน เมื่อมีการลงคะแนนเพื่อเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้น 5 ลำดับแรก พบความผิดปกติของการลงคะแนนว่า กลุ่มนี้มีผู้สมัครที่มีคุณวุฒิจำนวนมาก หลายคนจบปริญญาโท และปริญญาเอกจากต่างประเทศ แต่การลงคะแนนกลับลงให้กับผู้สมัครแค่หมายเลข 2 หมายเลข คือหมายเลข 5 กับ หมายเลข 10 มีจำนวน 5-6 คน และพบว่าผู้สมัครบางคนก็ไม่ได้ลงคะแนนเลือกตนเอง ซึ่งแม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาถึง สว. จะบัญญัติให้ผู้สมัครไม่ต้องเลือกตนเองก็ได้ แต่ตนเชื่อว่าคนที่เสียเงินมา 2,500 บาท จะต้องลงคะแนนเลือกตัวเองอย่างน้อย 1 คะแนน ตนไม่เชื่อว่าเจตนาแบบนี้เป็นเจตนาที่บริสุทธิ์

ดังนั้น ตนจึงต้องการให้ กกต.ดำเนินตรวจสอบว่า มีจำนวนคนที่ไม่ลงคะแนนให้ตัวเองกี่คน และจำนวนผู้ที่ลงคะแนนให้หมายเลข 5 กับ 10 เป็นกลุ่มเดียวหรือไม่ ซึ่งจะเท่ากับเป็นการฮั้วการเลือก สว.ในระดับขั้นต้น ซึ่งถ้า กกต.ไม่มีการดำเนินการตรวจสอบก็เชื่อว่าในระดับจังหวัด และระดับประเทศ ก็จะเกิดการฮั้วในลักษณะแบบนี้อีก ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าแม้จะเกิดปัญหาลักษณะนี้กับบางกลุ่ม ก็จะไม่ทำให้การเลือกของกลุ่มอื่นกลายเป็นโมฆะไปด้วย ผู้สมัคร สว.ในกลุ่มอื่นของเขตนั้นก็จะไม่เกิดปัญหาอีนุงตุงนังไปอีก จุดประสงค์เพื่อให้กกต.ไปเปิดกล่องนับคะแนน เพราะเขตปทุมวันมีผู้สมัครกว่า 50 คน และกลุ่มที่ตนร้องก็มีผู้สมัครแค่ 15 คน ถือเป็นจำนวนไม่มาก ไม่ยากที่จะตรวจสอบ

“ผมถามว่าเราจะได้ สว.หน้าตาแบบไหน ดูจากรายชื่อผู้สมัครส่วนมาก เป็นผู้ที่คุณวุฒิ วัยวุฒิ และมีความรู้ความสามารถ มีการศึกษา เขาเหล่านั้นผมเชื่อว่าสุจริต และเชื่อมั่นว่าระบบนี้เป็นระบบที่จะทำให้ได้ สว. ที่มีความสามารถ มีการศึกษาไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆ ก็ตามเข้ามาเพื่อที่ทำหน้าที่ให้กับประเทศชาติ ประชาชนอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เป็น สว.ของบ้านใหญ่ ไม่ใช่ สว.ของพรรคการเมือง ผมอยากเห็นสายเลือด สว.เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเรียกร้องไปยังผู้สมัคร สว.และประชาชนทั้งประเทศ หากรับทราบหรือรู้ข้อมูลเหล่านี้ขอให้แจ้งเบาะแสไปที่ กกต.ในแต่ละจังหวัด ขณะนี้ผมได้รับส่งข้อมูลการฮั้ว หรือพฤติกรรมแบบนี้ไม่ต่ำกว่า 5 จังหวัด เขตซึ่งกำลังดูในรายละเอียด”  นายสนธิญา กล่าว

เมื่อถามว่า กกต.ระบุว่าเป็นสิทธิของผู้สมัครที่จะไม่ลงคะแนนให้กับตัวเองก็ได้ นายสนธิญา กล่าวว่า ตนเข้าใจ แต่การที่มีการลงคะแนนให้เฉพาะสองหมายเลข แสดงถึงความไม่สุจริตเที่ยงธรรม  ดังนั้นการอ้างว่าสิทธิแต่ไปทำผิดกฎหมายไปทำการฮั้ว สิทธิเหล่านี้จึงเป็นโมฆะ และจะต้องได้รับการตรวจสอบ ดังนั้น กกต.ต้องตรวจสอบว่าผู้สมัครทำงานที่ไหน แล้วการลงคะแนนเลือกนั้น สัมพันธ์กับการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือ 2 คน ได้คะแนนไปกอง ซึ่งเป็นหลักที่ยืนยันว่า การที่คุณอ้างว่าสิทธิ แต่สิทธิที่คุณใช้นั้นเกิดขึ้นจากเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ในการใช้สิทธิ นำไปสู่การเลือกที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม การใช้สิทธิดังกล่าวจึงไม่เป็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งกรณีนี้ตนจะตามร้องไปถึงการเลือกระดับชาติ

เมื่อถามต่อว่าผู้สมัครรายดังกล่าวเข้ารอบไปเพียงแค่คนเดียว และผ่านเข้าไปโดยใช้วิธีการจับสลาก ซึ่งอาจจะถูกมองว่าไม่ได้มาจากการฮั้ว นายสนธิญา กล่าวว่า ที่เขาเข้าไปด้วยวิธีการนั้นเพราะเขาฮั้วไม่ได้ แต่ในเบื้องต้นเขาได้ฮั้วไปแล้ว และทำให้บุคคลอื่นที่เข้ามาร่วมสมัครเป็น สว.ในกลุ่มนั้นตกรอบไป มาจากการกระทำของคนที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งถ้าตนปล่อยประเด็นนี้ ก็จะทำให้เราได้ สว.ที่มาจากการฮั้ว การเลือกครั้งนี้คนที่มีความรู้ความสามารถมีประวัติการทำงานที่เชื่อได้ว่าจะสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ เข้ามาสมัคร ควรได้รับการคัดเลือกแบบแฟร์ๆ และสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ควรที่จะต้องเจอการจัดตั้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตนจึงมาแจ้งเบาะแสให้กับ กกต.ซึ่งอยู่ที่ กกต.จะพิจารณา