เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ดร.อรรถพล  สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาเศรษฐกิจโลก (The World Economic Forum : WEF)  ได้รายงานการสร้างตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันต้องให้ความสำคัญกับทักษะเป็นอันดับแรก 2024 ซึ่งพบว่า ร้อยละ 60 ของธุรกิจทั่วโลกมีช่องว่างด้านทักษะตลาดแรงงานในท้องถิ่นเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และมีธุรกิจเพียงร้อยละ 39 เท่านั้นที่พร้อมสำหรับผู้มีความสามารถในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการย้ำถึงความเร่งด่วนขององค์กรต่างๆ ที่จะต้องปรับใช้แนวทางการเน้นทักษะเป็นหลัก เพื่อดึงดูด พัฒนา และรักษาผู้มีความสามารถ  โดยมีตัวอย่างจาการนำแนวทาง “skills-first” ไปใช้แล้วได้ผลจริง เช่น IBM SkillsBuild ได้เสนอการศึกษาฟรีที่มีมากกว่า 1,000 หลักสูตรและได้ดึงดูดผู้เรียนกว่า 7 ล้านคนตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งแสดงถึงการเพิ่มการเข้าถึงทักษะทางเทคโนโลยี

เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการคาดการณ์ในอนาคตของสภาเศรษฐกิจโลกมองว่า ทักษะที่จำเป็นจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ  การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจะสร้างความต้องการทักษะใหม่ๆ และการเตรียมตัวล่วงหน้าจะช่วยให้องค์กรและแรงงานปรับตัวได้  โดยสภาเศรษฐกิจโลกได้เสนอให้ประเทศทั่วโลกควรที่จะลงทุนการพัฒนาทักษะ โดยจัดลำดับความสำคัญการลงทุนในโครงการริเริ่มการพัฒนาทักษะที่มุ่งเน้นการยกระดับทักษะและการเพิ่มทักษะ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มความสามารถในการผลิต นวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขัน  พร้อมยอมรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายในองค์กร โดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องและสร้างโอกาสให้ในการได้รับความสามารถใหม่ๆ การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มการจ้างงานส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังขับเคลื่อนความคล่องตัวและการปรับตัวขององค์กรด้วย

“ผลการศึกษาของสภาเศรษฐกิจโลกยังย้ำว่าการขาดแคลนทักษะเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและศักยภาพของบุคคลในการทำงาน ดังนั้นจากภาพสะท้อนดังกล่าว สกศ.เห็นว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องลุยพัฒนาทักษะของผู้เรียน เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศด้วย” ดร.อรรถพล กล่าว