เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวันที่ 19-21 มิ.ย. นี้ แต่ที่น่ากังวลคือถึงตอนนี้ สส. และประชาชนยังไม่ได้เห็นเอกสารฉบับเต็ม เพราะต้องรอให้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 11 มิ.ย. นี้ก่อน ทำให้เหลือเวลาให้ สส. ได้ศึกษารายละเอียดทั้งหมดประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่ตนอยากให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีการหมกเม็ดอะไรไว้ เนื่องจากข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดเผยออกมาว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2568 มีข้อสังเกตหลายประการที่จะพาประเทศไทยเข้าสู่ยุค “กู้หนี้ยืมสิน” อย่างเต็มตัว สวนทางกับความสามารถในการหารายได้ ยิ่งเวลาผ่านมาเกือบปีแล้ว ยิ่งพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นอย่างดี ว่าไม่สามารถทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อมกันได้ตามคำโฆษณาเพื่อหาเสียงเลย

“ผมเชื่อว่าตอนที่พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ในการหาเสียงกับประชาชน น่าจะยังคิดไม่เสร็จ ทำให้แนวทางเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด ที่สำคัญคือตอบไม่ได้ว่าจะเอาเงินจากไหนมาทำโครงการ ตอนนั้นปฏิเสธเสียงแข็งทุกเวทีว่าไม่กู้แน่นอน แต่หลังจากผมได้เห็นหน้าตาคร่าวๆ ของงบประมาณฯปี 2568 แล้ว ต้องบอกว่าเป็นมหกรรมการกู้ครั้งใหญ่เพื่อเอามาทำโครงการนี้ ภายใต้คำว่าการตั้งงบแบบขาดดุล ซึ่งผมเชื่อว่าจะพัฒนากลายเป็นพายุหนี้ที่ส่งผลกระทบต่อไประยะยาวอย่างแน่นอน” นายร่มธรรม กล่าว

นายร่มธรรม กล่าวต่อว่า งบประมาณปี 2568 เป็นงบประมาณแห่งการกู้หนี้ยืมสินเพื่อเอามาแจกแบบพิสดาร โดยปลายทางของเส้นเงินแสนล้านบาท จะแบ่งกันไปกระจุกอยู่ในกระเป๋าเจ้าสัวไม่กี่คน ส่วนกระเป๋าตังค์ของรัฐน่าจะฉีก เพราะเป็นการเสนอตั้งงบประมาณแบบขาดดุลวงเงิน 3,752,700 ล้านบาท โดยปี 2568 รัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้สุทธิ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณ ปี 2568 มีการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาทที่ต้องขอกู้เพิ่ม เมื่อนำมาบวกกับวงเงินที่เพิ่งขอกู้เดิมปี 67 จำนวน 693,000 ล้านบาท ก็จะเกือบเต็มกรอบวงเงิน ตามเงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ที่กำหนดไว้ 865,740 ล้านบาท ซึ่งการกู้เต็มเพดานขนาดนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงจะเป็นภาระผูกพันจากดอกเบี้ยที่ต้องตั้งงบปีถัดๆ ไป มาจ่าย ทำให้การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาหรือลงทุนใหม่ๆ มีข้อจำกัดมากขึ้น เสมือนเป็นการเบียดบังโครงการอื่นๆ เพื่อมาตอบสนองเพียงมาตรการเดียว ทำให้ไม่สามารถพัฒนาหลายๆ มิติไปพร้อมกันได้

“ผมสังเกตว่ามีการตั้งหัวข้อใหม่ผุดขึ้นในงบกลางที่ไม่เคยมีในงบกลางปี 2567 คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 152,700 ล้านบาท คาดว่างบก้อนนี้น่าจะเพื่อรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเช่นกัน และเมื่อไปดูรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบ 2568 กลับไม่ได้ตั้งไว้เลย เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2567 ที่ตั้งไว้ 118,361.1 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองก็ไม่มีการจัดตั้งงบประมาณไว้” นายร่มธรรม กล่าว

นายร่มธรรม กล่าวอีกว่า จากข้อมูลนี้พบว่า การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ถึง 24.9 เปอร์เซ็นต์ และคิดเป็นสัดส่วน 4.4 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ ปี 67 มีสัดส่วน 3.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยก่อนหน้าที่มีคำเตือนจากทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่ารัฐบาลควรลดขนาดการขาดดุลงบประมาณและกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการเพิ่มรายได้และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะข้างหน้า เนื่องจากต้องยอมรับว่าขณะนี้มีความตึงเครียดในสถานการณ์โลกค่อนข้างสูง ส่งผลต่อต้นทุนหลายอย่าง เช่น พลังงานและอื่นๆ รวมถึงปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแรงกดดันต่อไทยสูง อาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะกลางและระยะยาวได้

“งบประมาณฯปี 2568 คือการก่อตัวของพายุหนี้ลูกใหญ่ ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึมต่อเนื่องมายาวนาน ผมจึงเห็นด้วยกับมาตรการเติมเงินเข้าไปในมือประชาชนเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เติมเงินไปถึงมือประชาชนนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบ เติมเงินเข้าไปในระบบเพื่อให้เกิดรายได้จากงานที่ทำ ไม่ต้องทำให้ซับซ้อนหรือมุ่งเป้าเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งทำให้การจัดสรรงบประมาณรวน และสะท้อนว่าไม่ได้เป็นการจัดสรรตามลำดับความสำคัญที่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ แค่ต้องการให้เกิดเพราะกลัวเสียหน้าเท่านั้น” นายร่มธรรม กล่าว