สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ว่า กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกักขังและการส่งตัวคนต่างด้าว ที่ไม่มีสถานะผู้พำนักกลับประเทศฉบับแก้ไขของญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. สร้างความตื่นตระหนกในหมู่ผู้ที่อาจถูกเนรเทศ เนื่องจากรัฐบาลสามารถส่งตัวบุคคลที่ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย 3 ครั้งขึ้นไปกลับประเทศได้ แม้พวกเขาจะมีเหตุผลอันสมควร

“ไม่มีการการันตีว่าผมจะมีชีวิตตอนที่กลับไป” นายเมียว จอ จอ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา กล่าว ทั้งนี้ เขาแสวงหาสถานะผู้ลี้ภัยในญี่ปุ่น หลังหลบหนีออกมาจากเมียนมา “มันเป็นกฎหมายที่ไม่ปกป้องชีวิต” ส่งผลให้ครอบครัวต้องเผชิญกับอันตรายด้วย เขาจึงเดินทางจากเมียนมา เข้ามาที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2549 และยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย 3 ครั้ง แต่ถูกปฏิเสธทั้งหมด

นายเมียว จอ จอ ยื่นอุทธรณ์ต่อองค์กรเกี่ยวข้องกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น เพื่อขอการรับรองผู้ลี้ภัย แต่ยังไม่ชัดเจนว่า จะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ซึ่งหากเขาถูกเนรเทศกลับเมียนมา จะไม่มีหลักประกันถึงชีวิตของเขา

ด้านชายชาวแคเมอรูนคนหนึ่ง วัย 61 ปี ซึ่งเข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อปี 2555 กล่าวว่า การยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน เขาเคยมีส่วนร่วมกับขบวนการแรงงานในแอฟริกา และเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐขจัดปัญหาแรงงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน เมื่อเพื่อนของเขาถูกสังหาร ตัวเขาได้ลี้ภัยไปญี่ปุ่น เพื่อหลบหนีจากการกดขี่ข่มเหงโดยรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ใบสมัครสถานะผู้ลี้ภัยของเขาถูกปฏิเสธทั้งสองครั้ง ส่งผลให้เขาถูกควบคุมตัวในสถานกักกันคนเข้าเมือง เป็นเวลา 2 ปีนับจากปี 2561 ที่เขายื่นคำขอเป็นครั้งที่ 2 เมื่อนึกถึงช่วงเวลาเหล่านั้น เขารู้สึกจนมุมเหมือนติดอยู่ในคุก เมื่อเดือน พ.ย. 2561 ขณะที่ยังถูกควบคุมตัว เขายื่นฟ้องต่อศาลกรุงโตเกียวเพื่อขอให้ยกเลิกคำตัดสิน ที่จะไม่รับรองเขาว่าเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งศาลพิพากษาเห็นชอบ แต่ได้มีการกลับคำตัดสินเมื่อเดือน ก.พ. ปีนี้ 

ปัจจุบัน ชายชาวแคเมอรูนคนดังกล่าว อยู่ระหว่างได้การปล่อยตัวชั่วคราวจากการคุมขัง และได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อขอรับรองสถานะผู้ลี้ภัย เขาย้ำว่า ผู้ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ “โปรดหยุดการเนรเทศและเข่นฆ่าพวกเรา”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES