นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมการขนส่งทางรางครบรอบ 5 ปี ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ขร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านระบบขนส่งทางราง ได้เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดการข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากระบบขนส่งทางราง และกำกับ ติดตามให้เกิดการบริการระบบขนส่งทางรางที่มีคุณภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ในปีที่ 6 ขร. ยังคงเดินหน้าผลักดันให้ระบบขนส่งทางรางของไทยพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ สู่การเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ และสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการว่าจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว มีความสุข และความปลอดภัยในการเดินทาง พร้อมกันนี้จะเร่งผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึง และได้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางอย่างเท่าเทียม รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย โดยเฉพาะนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล ที่นำร่องตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 66 ในรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ประสบความสำเร็จอย่างดี ดึงดูดประชาชนมาใช้บริการขนส่งทางรางมากขึ้น

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลถึงวันที่ 30 เม.ย. 67 หรือประมาณ 6 เดือนครึ่ง พบว่า ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรวม 2 สาย 18.08 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 (16 ต.ค. 65-30 เม.ย. 66) ซึ่งผู้โดยสารอยู่ที่ 14.22 ล้านคน เพิ่งขึ้นถึง 4 ล้านคน โดยสายสีแดง ผู้โดยสาร 5.48 ล้านคน เพิ่มขึ้น 51.46% ส่วนสายสีม่วง 12.59 ล้านคน เพิ่มขึ้น 18.17% ขณะที่รายได้ค่าโดยสารของ 2 สาย 289.30 ล้านบาท ลดลง 18.81% ก่อนดำเนินการรายได้ 356.31 ล้านบาท และหลังดำเนินการรายได้ 289.30 ล้านบาท (ลดลงประมาณ 67 ล้านบาท) ซึ่งสายสีแดง รายได้ 107.29 ล้านบาท ลดลง 1.79% และสายสีม่วง รายได้ 182.01 ล้านบาท ลดลง 26.70% ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการ ส่งผลให้การสูญเสียรายได้ของทั้ง 2 สาย ลดลงจากที่คาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี เหลือประมาณ 130 ล้านบาทต่อเดือน

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ขร. จะเร่งผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ ขร. มีอำนาจสั่งการ และลงโทษตามกฎหมายหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตาม รวมทั้งสามารถกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางในทุกๆ ด้าน ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการเดินทางด้วยระบบราง พร้อมทั้งคุ้มครองให้เกิดการเดินทางที่ปลอดภัย และอัตราค่าโดยสารมีราคาที่เหมาะสมด้วย

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ขร. ได้ศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบรางเสร็จเรียบร้อยแล้วจะใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับรถไฟฟ้าทุกสาย เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการแต่ละราย จะเก็บค่าโดยสารไม่เท่ากันแล้วแต่สัญญาสัมปทาน เริ่มที่ 12-17 บาท อีกทั้งระบบขนส่งทางรางเป็นระบบเดียวที่ยังไม่กำหนด และไม่มีการควบคุมเรื่องค่าโดยสาร ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ อาทิ รถโดยสาร เครื่องบิน และเรือโดยสาร มีการกำหนดเพดานค่าโดยสารขั้นสูงหมดแล้ว

สำหรับอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนทางราง ที่จะเริ่มใช้ในปี 67 หาก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีผลบังคับใช้ มีความใกล้เคียงกับค่าโดยสารที่ให้บริการในปัจจุบัน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าแรกเข้า 12.49 บาท ค่าโดยสาร 2.25 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) การขึ้นอัตราค่าโดยสารใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) กรุงเทพฯ รถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาค ค่าแรกเข้า 11.51 บาท ค่าโดยสาร 2.07 บาทต่อ กม. การขึ้นอัตราค่าโดยสารใช้ CPI รายจังหวัด

รถไฟระหว่างเมือง ไม่มีค่าแรกเข้า คิดค่าโดยสารตามระยะทาง และชั้นโดยสาร อาทิ ชั้น 1 ระยะทาง 1-100 กม. ค่าโดยสาร 1.165 บาทต่อ กม. และชั้น 3 ระยะทาง 1-100 กม. ค่าโดยสาร 0.237 บาทต่อ กม. เป็นต้น และรถไฟความเร็วสูง ค่าแรกเข้า 95 บาท ระยะทาง 0-300 กม. ค่าโดยสาร 1.97 บาทต่อ กม. และ 300 กม.ขึ้นไป ค่าโดยสาร 1.70 บาทต่อ กม. ทั้งนี้จะนำมาใช้ เมื่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีผลบังคับใช้แล้ว.