เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง พม. ครั้งที่ 6/2567 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนและกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม ประจำเดือน เม.ย.–พ.ค. 2567 จำนวน 6,655 กรณี โดยเป็นปัญหาด้านรายได้ความเป็นอยู่มากที่สุด 3,424 กรณี ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว 1,725 กรณี และปัญหาคนเร่ร่อน/ขอทาน 619 กรณี

เมื่อจำแนกตามพื้นที่ พบปัญหาในพื้นที่ภูมิภาคและปริมณฑล 4,666 กรณี คิดเป็น 70.11%  กทม. 1,989 กรณี คิดเป็น 29.89% เมื่อแยกประเด็นปัญหาความรุนแรง พบมีจำนวน 373 กรณี ซึ่งมีผู้ถูกกระทำ 410 ราย โดยเป็นความรุนแรงภายในครอบครัวมากที่สุด 281 ราย คิดเป็น 68.53% ผู้ถูกกระทำเป็นเด็กมากที่สุด 223 ราย คิดเป็น 54.39% และเป็นเพศหญิงมากที่สุด 302 ราย คิดเป็น 73.65% 

นายวราวุธ กล่าวว่า น่าเป็นห่วงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กเยาวชนและผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการถูกทำร้ายร่างกาย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เริ่มเปราะบางมากขึ้น หลายกรณีมาจากรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ดังนั้น พม. จะต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และการส่งเสริมด้านรายได้ ด้วยการเพิ่มโอกาส และสร้างความตระหนักให้กับประชากรวัยทำงาน พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill/Upskill) รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ และบูรณาการฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน การกระจายงานสู่พื้นที่สู่ชุมชน  การส่งเสริมการออม การส่งเสริมสุขภาพของประชากรในวัยทำงาน และมาตรการส่งเสริมสมดุล ชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว เช่น สร้างแรงจูงใจด้านภาษีหรือการยกย่องทางสังคมให้แก่นายจ้างที่จัดสวัสดิการดูแลเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ ให้แก่ลูกจ้าง การทำงานแบบยืดหยุ่น ส่งเสริมบทบาทชายหญิงในการร่วมกันดูแลครอบครัว.