สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงซันโฮเซ ประเทศคอสตาริกา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติรายงานว่า การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบนโลกแซงหน้าการทำประมงตามธรรมชาติเป็นครั้งแรก และมีการคาดการณ์ว่า ความต้องการอาหารทะเลจะเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก การเพิ่มขึ้นของการผลิตที่ยั่งยืนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อปี 2565 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ผลผลิต 94.4 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51 ของผลผลิตทั้งหมด และร้อยละ 57 ของการผลิตเพื่อการบริโภคของมนุษย์ “ระบบประมงได้รับการยอมรับมากขึ้นว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร และโภชนาการ” รายงานระบุ “ด้วยเหตุผลด้านความหลากหลาย และความสามารถในการจัดหาบริการในระบบนิเวศและอาหารเพื่อสุขภาพ ระบบอาหารทะเลจึงเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพ ในการปรับปรุงระบบความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการระดับโลก”

แม้ว่าการประมงในธรรมชาติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานานหลาย 10 ปี แต่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 นับตั้งแต่ปี 2563 ด้วยเหตุนี้ ความยั่งยืนของการทำประมงในธรรมชาติจึงสร้างความกังวล รายงานระบุด้วยว่า สัดส่วนของสัตว์ทะเลที่จับได้ ส่งผลให้ระดับความยั่งยืนทางชีวภาพลดลงเหลือร้อยละ 62.3 เมื่อปี 2564 และต่ำกว่าปี 2562 ร้อยละ 2.3 “จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูจำนวนสัตว์ทะเล”

รายงานยังอ้างถึง การคาดการณ์จำนวนประชากรโลก ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ล้านคน ภายในปี 2573 ว่า “การจัดหาอาหาร, โภชนาการ และความเป็นอยู่ให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีการลงทุนจำนวนมาก” พร้อมระบุว่า “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา” โดยตั้งข้อสังเกตว่า ประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ของโลก ไม่สามารถรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้

อย่างไรก็ดี อาหารทะเลยังคงเป็นหนึ่งในสินค้าอาหาร ซึ่งมีการซื้อขายกันมากที่สุด โดยสร้างรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 195,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.1 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2565 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19 จากปีก่อนที่โรคโควิด-19 ระบาด “แม้จะมีความก้าวหน้า แต่อุตสาหกรรมประมงยังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ, การขาดแคลนน้ำ, มลพิษ, การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และผลกระทบอื่น ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น”

รายงานฉบับนี้ เผยแพร่ในเวลาเดียวกับการหารือระหว่างผู้แทนประเทศ, นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมการประชุมทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทรครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในฝรั่งเศสในปี 2568 โดยนายหลี่ จุนหัว ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับกิจการทางสังคม กล่าวว่า การปกป้องมหาสมุทร “ไม่ใช่ทางเลือกแต่คือความจำเป็น”

ขณะที่ประธานาธิบดีโรดริโก ชาเวส ผู้นำคอสตาริกา ในฐานะเจ้าภาพการเจรจา กล่าวว่า หากโลกไม่ดำเนินการ เราในฐานะคนรุ่นต่อไป จะเป็นผู้พรากอนาคตของมนุษยชาติ

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการเจรจาได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ รวมไปถึงความสามารถของมหาสมุทรในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ความจำเป็นในการประมงอย่างยั่งยืน และการจัดการกับมลพิษทางทะเล.

เครดิตภาพ : AFP