เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่กลุ่มทอผ้าไหมยกทองโบราณ “จันทร์โสมา” บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการขับเคลื่อนงานสืบสานภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ให้การต้อนรับและนำชม โอกาสนี้ นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายวสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และคณะ โชคดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมกลุ่มจันทร์โสมา อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย บรมครูด้านผ้าไทย แห่งผ้าทอยกทองจันทร์โสมา ทำให้ได้รับรู้รับทราบและซาบซึ้งในความมุ่งมั่นตั้งใจของท่านอาจารย์ที่เป็นผู้ได้สนองแนวพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการรื้อฟื้นภูมิปัญญาผ้ายก ภูมิปัญญาผ้าไทยที่วิจิตรพิสดาร แบบราชสำนักดั้งเดิม ซึ่งต้องใช้สติปัญญา พลกำลังความสามารถ และระยะเวลาที่ต้องอดทนและตั้งใจในการทอจนเกิดความสวยงาม ซึ่งท่านอาจารย์ได้ทุ่มเททำมาหลายปีจนเป็นที่ประจักษ์

“และเป็นความโชคดีของคนไทยทุกคนที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงมีพระดำรัสให้พวกเราฟังบ่อย ๆ ว่านับตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์ได้มีโอกาสโดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในพื้นที่ต่าง ๆ จนทำให้พระองค์ทรงคลุกคลีตีโมงกับงานหัตถกรรมไทยมาอย่างยาวนาน กระทั่งพระองค์ทรงมีแรงบันดาลใจในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมไทย เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน โดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ได้ร่วมสนองงานตามพระดำริเพื่อขับเคลื่อนงานวงการผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทยให้เกิดการสร้างสรรค์และพัฒนาเพิ่มมากขึ้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า “อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย” ทำให้หมู่บ้านท่าสว่างเล็ก ๆ ของจังหวัดสุรินทร์ที่จากคนไม่รู้จัก กลายเป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี หมู่บ้านที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่คนต่างต้องมาชื่นชมงานผ้า งานวัฒนธรรม เราจะเห็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแวะเวียนมาเดินชมผ้าในทุกวัน อันเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่า การที่พวกเราช่วยสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย ภูมิปัญญางานหัตถกรรมไทยที่มีคุณค่า ก็จะทำให้เรามีความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิต ด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การน้อมนำแนวพระดำริ “Sustainable Fashion” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ยังสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการมุ่งมั่นรักษาโลกใบเดียวของพวกเราให้มีอายุยืนยาวที่สุด ซึ่งตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ ที่มุ่งช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หมดจากความทุกข์ยาก ความยากจน ความหิวโหย การกดขี่ทางเพศ และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี โดยงานหัตถกรรมไทย ผ้าไทย ภายใต้การขับเคลื่อนของพระองค์ท่าน ล้วนตอบโจทย์ SDGs ทุกข้อ โดยเฉพาะต่อยอดออกแบบลวดลาย ออกแบบตัดเย็บ ให้ผ้าไทยใส่ได้ทุกโอกาส ทุกวัย ทุกเวลา ไม่เฉพาะงานทางการ ก็ใส่ผ้าไทยได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำมาขับเคลื่อนร่วมกับปราชญ์ชุมชน ปราชญ์ของชาติ โดย อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นปราชญ์ของโลก ผู้มาสนองงานพระองค์ท่าน เพื่อทำให้ลูกหลานมีแรงบันดาลใจ ทำให้คนหนุ่มสาว ทั้งศิลปิน OTOP และสมาชิกศิลปาชีพรุ่นใหม่ มุ่งมั่นเร่งรัดพัฒนาฝีมือให้ผลิตชิ้นงานวิจิตรบรรจง จำหน่ายในราคายุติธรรม และช่วยรักษาภูมิปัญญาบรรพบุรุษไทยให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป”ขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยช่วยกันอุดหนุน ช่วยกันสวมใส่ผ้าไทยที่มีหลายประเภท ทั้งบาติก มัดหมี่ ยกดอก แพรวา ผ้าปัก ผ้าพื้น รวมทั้งร่วมกันออกแบบ ตัดเย็บ “เป็นต้นแบบ” เพื่อให้คนรอบข้างได้เห็นว่า สามารถนำผ้าไทยไปตัดเย็บสวมใส่ให้สนุกได้ ดังโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่คู่ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ของพวกเราตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ด้านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย กล่าวว่า “กลุ่มจันทร์โสมา” ของเรา เกิดขึ้นด้วยพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยรับสั่งอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ และคุณหญิงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ให้ปรับปรุงเนื้อผ้าของผ้าไหมไทยให้มีความอ่อนนุ่มเหมือนกับผ้าราชสำนักสมัยโบราณ โดยอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ ได้ให้คำแนะนำว่า อยากให้ผ้ายกแบบราชสำนักที่สูญหายไปกว่าร้อยปีถูกรื้อฟื้นกลับขึ้นมาก่อน

“และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นเงินทุนก้อนแรกให้มาเริ่มต้นจึงเกิดเป็นสถานที่แห่งนี้ขึ้นมา อันยังประโยชน์ไปยังพี่น้องประชาชนบ้านท่าสว่างที่แต่ดั้งเดิมเป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าเป็นอาชีพเสริมมาตั้งแต่โบราณ แต่อาจจะไม่ได้รับความนิยมหรือเป็นที่รู้จักมากนัก แต่ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ทำให้สถานที่ตรงนี้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ดึงให้ลูกหลานกลับมายังถิ่นที่อยู่เดิม เกิดเป็นร้านค้าต่าง ๆ มีสินค้าที่ผลิตในชุมชนบ้าง สินค้าที่ผลิตในตัวจังหวัดบ้างมาจำหน่าย” อาจารย์วีรธรรม กล่าวเพิ่มเติม

อาจารย์วีรธรรม กล่าวในช่วงท้ายว่า นอกจากนี้ พวกเราได้น้อมนำพระราชเสาวนีย์ไปสร้างครูหัตถกรรมไทยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อำเภอเชียรใหญ่ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านตรอกแค อำเภอชะอวด และครูที่พวกเราไปสร้างก็ได้กลับมาช่วยสร้างครูที่ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง และสำหรับมุมมองที่เกี่ยวกับการต่อยอดภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยของคนรุ่นใหม่นั้น ตนอยากให้คนรุ่นใหม่มองภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราซึ่งถือว่ามีคุณค่าในกระแสโลกปัจจุบันที่มีความอ่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยเรา เป็นการทำงานที่สะอาดต่อสิ่งแวดล้อมมาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทำผ้าไหม การย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งมีความสดใส งดงาม คงทน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เหมาะกับสภาวะในปัจจุบันมาก และจะก่อให้เกิดความยั่งยืนดังที่กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนเพื่อประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้