หลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง จนทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อเดือนที่แล้ว ส่งผลให้นักเดินทางทางอากาศจำนวนมากเกิดความวิตกกังวล แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว การตกหลุมอากาศระหว่างทางไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และน้อยครั้งมากที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้โดยสาร

จิมมี นิโคลสัน ผู้มีอาชีพเป็นนักบินและเจ้าของบัญชีผู้ใช้ “ติ๊กต็อก” ในชื่อ “jimmy_nicholson” จึงออกมาโพสต์คลิปวิดีโอแนะนำการเลือกที่นั่งบนเครื่องบินที่ดีที่สุดสำหรับผู้โดยสารที่หวาดกลัวว่าจะพบเหตุการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศระหว่างทาง 

นิโคลสัน ระบุว่า ที่นั่งที่อยู่บริเวณด้านหลังหรือส่วนหางของเครื่องบิน จะมีอาการแกว่งมากกว่าด้านหน้า เวลาที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ เขาจึงแนะนำให้เลือกที่นั่งทางด้านหน้าหรือส่วนหัวของเครื่องบิน สำหรับคนที่เป็นกังวลเรื่องนี้

กัปตันเดนนิส เทเจอร์ แห่งสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ส ก็เห็นด้วยกับคำแนะนำนี้ เขาชี้ว่า ส่วนใหญ่แล้ว ตำแหน่งที่นั่งในส่วนหางของเครื่องบินจะได้รับผลกระทบมากกว่าเมื่อเครื่องตกหลุมอากาศ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะการเคลื่อนที่ของอากาศด้วย

เทเจอร์ ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ถ้าหากไม่อยากเจอการกระแทกกระทั้นระหว่างทางเมื่อเครื่องตกหลุมอากาศ ควรเลือกที่นั่งที่ติดกับปีกเครื่องบิน เนื่องจากตำแหน่งของปีกมักจะอยู่ตรงกลางลำอันเป็นจุดศูนย์ถ่วงของเครื่องบิน ที่นั่งบริเวณนี้จึงได้รับผลกระทบน้อยว่าที่นั่งส่วนท้ายเครื่อง เมื่อเกิดการตกหลุมอากาศ

เดวิด สลอตนิค ผู้สื่อข่าวอาวุโสด้านธุรกิจการบินของเว็บไซต์ท่องเที่ยว The Points Guy ก็มองว่า ที่นั่งที่ใกล้บริเวณปีกเครื่องบินเป็นตำแหน่งที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบที่รุนแรงเมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ และยังเหมาะสำหรับคนที่เมาเครื่องบินหรือผู้ที่มีปัญหาว่ามักจะตื่นเต้น กระวนกระวายใจเกินเหตุ เมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน

นอกจากนี้ ยังมีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหลายคน ออกมาให้คำแนะนำหลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ตกหลุมอากาศจนต้องลงจอดฉุกเฉินว่า ทางที่ดี ควรเลือกที่นั่งที่ติดกับหน้าต่าง และถ้าจะให้ดีที่สุดก็ควรจะรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อมีสัญญาณเตือน เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บ

นิโคลสันยังแนะนำเพิ่มเติมว่า สำหรับคนที่เมาเครื่องบินได้ง่าย ควรใช้ภาพวิวนอกหน้าต่างเข้าช่วย โดยแนะนำให้มองไปที่ตำแหน่งเส้นขอบฟ้า จะช่วยบรรเทาอาการเมาเครื่องบินได้

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES