เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 มิ.ย. ที่ ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า เขตพระนคร น.ส.วินินท์อร ปรีชาพินิจกุล พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านที่อยู่ในแนวเขตเวนคืนที่ดินและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาศัยในซอยวิภาวดี 5, ซอยพหลโยธิน 18 และซอยพหลโยธิน 18/1 แขวงจอมพล เขตจตุจักร รวมตัวมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. เรื่อง คัดค้านการต่ออายุกฤษฎีกากำหนดแนวเวนคืนที่ดินชุมชนหลังหมอชิตเก่า โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เดินทางมารับหนังสือด้วยตนเอง พร้อมสอบถามความเดือดร้อนของชาวบ้านหากมีการเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว

น.ส.วินินท์อร เปิดเผยว่า วันนี้ตัวแทนชาวชุมชนหมอชิตเก่า รวมตัวกันมายื่นหนังสือ แจ้งยืนยันไม่ประสงค์เวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ 2563 ฉบับลงวันที่ 20 ส.ค. 63 โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63 โดยให้มีผลใช้บังคับได้ มีกำหนด 4 ปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 64 อธิบดีกรมธนารักษ์ ในขณะนั้น ได้กล่าวยืนยันต่อชาวบ้านในซอยวิภาวดี 5 ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินว่าทางกรมธนารักษ์ จะไม่มีการเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เพื่อสร้างทางยกระดับเชื่อมทางเข้าออกไปยังถนนวิภาวดีรังสิตอย่างแน่นอน รวมทั้งมีผลการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะให้กรุงเทพมหานครยกเลิกการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินบริเวณพื้นที่โดยรอบ ในการสร้างทางยกระดับเข้าออกจากโครงการเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

น.ส.วินินท์อร กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกเวนคืน ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถขาย หรือให้เช่าบ้านและที่ดินของตนเองได้ รวมทั้ง ชาวชุมชนบางรายก็มีความวิตกกังวลตลอดมา ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะครบกำหนดการมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 ส.ค. 67 นี้ ชาวบ้านในพื้นที่เวนคืนทราบว่า มีความพยายามจะขอต่ออายุของพระราชกฤษฎีกาออกไปอีก เพื่อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนทั้งที่กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ประสงค์สร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมทางเข้าออกไปยังถนนวิภาวดีรังสิต จึงไม่มีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาอีกต่อไป

“การที่มีความพยายาม ที่จะขอต่ออายุพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวออกไปอีกนั้น อาจจะเป็นการหาช่องทาง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ เพราะถ้าหากหน่วยงานภาครัฐ เช่น บขส. ไม่ได้ใช้พื้นที่หมอชิตเก่าเป็นสถานีขนส่งรถโดยสารแล้ว ชาวชุมชนมองว่าก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างทางยกระดับเชื่อมทางเข้า-ออกจากฝั่งพหลโยธิน ไปถนนวิภาวดีรังสิต อีกทั้งเรื่องดังกล่าว ยาวนานมากว่า 30 ปี ทำให้วันนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และได้รับความเดือดร้อนจึงเดินทางมายื่นหนังสือ เพื่อขอคัดค้านและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว และขอให้ไม่มีการต่ออายุการใช้บังคับตามพระราชกฤษฎีกาออกไปอีก เมื่อครบกำหนดการใช้บังคับ ในวันที่ 22 ส.ค. นี้” น.ส.วินินท์อร กล่าว

ด้านนายชัชชาติ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า เบื้องต้นทราบว่าการเวนคืนถนนจะไปเชื่อมต่อกับสถานีหมอชิตใหม่ที่จะย้ายขนส่งมา หลังจากนี้ขอดูแนวคิดของทางกระทรวงคมนาคมก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะว่ามันเป็นโครงการที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งถ้าหากไม่ได้ทำแล้วส่วนนี้ก็ไม่ได้มีความหมายอะไร อย่างไรก็ตามคงต้องไปดูว่าสุดท้ายแล้วกระทรวงคมนาคม มองอย่างไรบริเวณต้นทาง ทั้งนี้รูปแบบการเดินทางก็เปลี่ยนไปคงต้องมาดูกันอีกครั้งว่า รูปแบบที่เคยคิดไว้เดิมยังคงเป็นประโยชน์ กับปัจจุบันหรือไม่ที่จะเอารถ บขส. ต่อเข้ามาตรงจุดนี้ เพราะสถานีก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป สถานีรถไฟความเร็วสูงก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป ดังนั้น จุดนี้จึงอาจจะไม่เชื่อมต่อกับระบบการขนส่งมวลชนอื่น ถ้าตามมุมมองแล้วสถานี บขส. ควรจะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูง ถึงจะดี เพราะมาจากต่างจังหวัดก็จะเชื่อมต่อได้ จากนี้จะรับไปดูให้และให้ความยุติธรรมกับทุกคน เพราะขณะนี้ในส่วนของ กทม. ก็ยังไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม และทางกรมธนารักษ์ก็ยังไม่ได้ติดต่อมาหารือข้อมูลใดเพิ่มเติม.