นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดภาพวาดระบายสีในโครงการ “โตโยต้า รถยนต์ในฝัน” “TOYOTA Dream Car Art Contest 2024” จัดขึ้นเป็นปีที่ 13

“โตโยต้า รถยนต์ในฝัน” เป็นโครงการประกวดภาพวาดระบายสีระดับโลก จัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถของเยาวชนไทย ให้มีโอกาสในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง ภายใต้หัวข้อ “รถยนต์ในฝัน” ให้เยาวชนรุ่นใหม่เกิดความสนใจในเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างโอกาส สนับสนุนความสามารถของเยาวชนไทย ให้พัฒนา ก้าวไกลสู่เวทีระดับสากล

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยในพิธีมอบรางวัลว่า “กว่า 13 ปี ที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนไทยได้พัฒนาความรู้ความสามารถรวมถึงพัฒนาทักษะทางด้านศิลปะ โดยเน้นที่การแสดงออกทางด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการวาดภาพระบายสี และในทุกปีเราได้สนับสนุนเยาวชนที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ ด้วยการคัดเลือกผลงานส่งเข้าประกวดระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น หลายปีที่ผ่านมาเยาวชนไทยไปคว้ารางวัลระดับโลกและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้ รวมทั้งสิ้นถึง 36 รางวัล ซึ่งรางวัลนี้นำไปต่อยอดเป็นผลงานใน portfolio สมัครเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และเกียรติคุณติดตัวต่อด้วย”

และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่โครงการฯ และเยาวชนไทยที่ได้รับพระราชทานพระวโรกาสจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดในระดับประเทศ สำหรับเยาวชนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของทั้ง 3 รุ่น ในส่วนของทางโครงการฯ จะมอบทุนการศึกษา พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ให้แก่เยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 และมอบประกาศนียบัตรพร้อมทุนการศึกษา เป็นรางวัลชมเชย อีก 7 รางวัล ในทุกรุ่นการแข่งขัน

นายศุภกร กล่าวถึงกิจกรรมใหม่ในปีนี้ว่า “ได้จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การจัด School Art Camp ส่งเสริมการเรียนรู้ และการนำความรู้พื้นฐานทางด้านศิลปะไปประยุกต์ใช้ ให้กับเยาวชน ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ยิ่งไปกว่านั้นยังขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมไปยังโรงเรียนประชาสงเคราะห์ บ้านราชวิถี เพื่อให้เด็กๆ ได้ร่วมถ่ายทอดจินตนาการ รวมถึงได้ร่วมกับผู้แทนจำหน่ายจัดกิจกรรมที่โชว์รูมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับชุมชน และโรงเรียนในหลายๆ จังหวัด”

“หลังจากการประกาศรางวัลในวันนี้ โตโยต้าจะนำผลงานน้องๆ จำนวน 30 ผลงาน ไปจัดแสดง ณ หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 21-31 สิงหาคม นี้ เพื่อให้ผลงานของเยาวชนไทย ได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และสร้างความภาคภูมิใจให้กับน้องๆ เยาวชนไทยอีกด้วย”

นายศุภกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัทฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดี จากกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการและส่งผลงานของโรงเรียนในสังกัดเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งโรงเรียนรัฐบาล และเอกชน และขอขอบคุณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสนับสนุนการขยายแผนกิจกรรมที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงราชวิถีให้โครงการของเรา ได้มีโอกาสเติมเต็มความฝัน และจินตนาการให้กับน้องๆ เพิ่มเติม และร่วมเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศในการประกวดระดับประเทศ จะเป็นตัวแทนเยาวชนไทยส่งผลงานเข้าแข่งขันในระดับโลก ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วย”

ทางด้าน ดร.สังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดภาพวาดระบายสี กล่าวว่าการคัดเลือกผลงานปีนี้ในรอบสุดท้าย 9 ชิ้น พิเศษต่างจากปีที่ผ่านมาโดยเน้นเรื่องแนวความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก ซึ่งเด็กไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ต้องห่วงเรื่องทักษะเพราะพื้นฐานเก่งมาก อันดับแรกทางคณะกรรมการจะพิจารณารายละเอียดในมุมมองผลงาน 9 ชิ้นสุดท้าย โดยคณะกรรมการทั้งหมด (5 คน) จะทบทวนผลงานปีที่ผ่านมาเพื่อเปรียบเทียบทั้งเนื้อหาเรื่องราว แนวคิด เพื่อหาความแปลกใหม่ทุกด้านเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา

“เป็นโครงการคุณูปการมีคุณค่าในแง่กระตุ้นและส่งเสริมภาพรวมทั่วประเทศ ก็ต้องขอบคุณบริษัท โตโยต้าฯ สามารถไปกระตุ้นให้ความรู้ เผยแพร่กิจกรรมทั่วทุกภูมิภาค เพราะบ้านเราการศึกษาพัฒนาด้านศิลปะยังไม่เปิดกว้าง ทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก อีกทั้งช่วยเปิดเวทีไปถึงญี่ปุ่นและระดับโลก ซึ่งเรื่องจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์นี้ พูดไปก็ทำยาก เพราะเด็กทั้งโลกต่างมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม เด็กไทยเองมีปัญหาไม่ชอบคิดเพราะมีหลายกรอบถูกจำกัด การศึกษาไม่ค่อยให้อิสระ ซึ่งการสร้างสรรค์งานขึ้นมานั้น ต้องกล้าคิดกล้าแสดงออก ที่ผ่านมาเริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังต้องหาความโดดเด่นอยู่ ในขณะที่เด็กญี่ปุ่น ยุโรป ไม่กังวลเรื่องการให้ความอิสระ แสดงออก นับเป็นหัวใจสำคัญ ฉะนั้นเราต้องพัฒนาต่อไป และว่าคณะกรรมการพยายามหาความแปลกประหลาดๆ ไม่อยู่ในรูปแบบเดิมๆ”

ดร.สังคม กล่าวอีกว่า การประกวดอย่าซีเรียส ผู้ใหญ่อย่าคาดหวัง เปรียบเสมือนนักมวยขึ้นไปชกก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักมวย เช่นเดียวกัน อย่าคาดหวังกับเด็กรวมทั้งปล่อยให้มีจินตนาการเอง กระบวนการศึกษาต้องให้อิสสระเสรี อย่าติดยึดความประณีต เพราะการแข่งขันไม่ใช่เป้าหมายของศิลปะ แต่มุ่งสอนให้คนมีความสุนทรียภาพ มีความงดงามทั้งความคิดและจิตใจ  อย่าปลูกฝังให้ทำงานแบบหลอกๆ เพราะครูดูงานมาเป็นล้านชิ้น เป็นกรรมการทั้งหมด อย่ามาหลอก สิ่งสำคัญคุณธรรม จริยธรรมที่ผ่านความงาม

“การแข่งขันเน้นความสะอาด ไม่ลำเอียงสิ่งนี้ครูยังต้องเน้นเรื่องพัฒนาการของเด็ก บางสนามเด็กมีจินตนาการ มุมประหลาดๆ เช่นผลงานเด็กอนุบาลที่ใช้พื้นขาว มีสเปชทุกที่ดูแล้วทันสมัยใช้สีสดดิบๆ น่าสนใจ เวลานี้มีภาพวาดดิจิตอล หรือใช้เอไอส่งเข้าประกวด ทางคณะกรรมการต้องระวังให้ดี ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดู สนามของเรามีรูปแบบระดับโลก และเด็กไทยสามารถกวาดรางวัลในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว โดยรูปแบบยากขึ้นมากเราส่งผลงาน 9 ชิ้น ต้องหามุมที่โดดเด่นเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ปีหน้าเปิดรับผลงานเร็วขึ้น เวลานี้มีเวลาเตรียมตัว ส่วนผู้ชนะเลิศไม่สามารถลงประกวดได้อีก”

ดร.สังคม กล่าวทิ้งท้ายเรื่องการสอนศิลปะว่า เด็กไทยมีศักยภาพระดับเวทีของโตโยต้า และระดับโลกหลายรูปแบบ อยากเห็นเด็กๆ มีอิสระทางความคิดเพิ่มขึ้น อย่าไปบังคับ แต่ใช้วิธีกระตุ้นแทน เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่งานศิลปะเท่านั้น แต่จะกระตุ้นความคิดงานอื่นๆ นอกจากนี้จินตนาการสำคัญที่สุด ส่วนทักษะฝีมือเด็กทำได้ด้วยตัวเองสิ่งได้ตามมาก็คือความมั่นใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของงานศิลปะไม่ว่าอาชีพไหนก็ตาม โดยเฉพาะประเทศที่เจริญมีคนประเภทนี้เยอะก็พัฒนาได้เยอะ

ส่วนภาพวาดระบายสี “รถยนต์ในฝัน” ในความคิดของน้องๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่แปลกตาแต่ยังแฝงแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย โดย ด.ญ.ณกัญญา คงรักษาคุณ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ กรุงเทพฯ เจ้าของผลงานชื่อ “รถโลกหอม” ผู้ชนะเลิศระดับอายุไม่เกิน 8 ปี เล่าแนวคิดของภาพว่า อยากเปลี่ยนควันเสียของรถให้เป็นออกซิเจน มาทำให้ดอกไม้บานส่งกลิ่นหอม โลกใบนี้จะได้อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้แทน เงินรางวัลที่ได้จะนำไปใช้ดูแลอาม่าที่ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

ส่วน ด.ญ.ชณัญชิฎา ชีวกานนท์ โรงเรียนกวงฮั่ว จังหวัดระยอง เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 กับผลงานชื่อ “รถต้นไม้” เล่าถึงภาพที่ถ่ายทอดไว้ว่า ที่วาดต้นไม้ เพราะต้นไม้มีใบสีเขียวจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ และต้นไม้ยังทำให้อากาศบริสุทธิ์สดใสด้วย ส่วนเงินรางวัลจะเก็บไว้สำหรับเป็นทุนการศึกษา

ด.ช.ธชย บุญปัญญาธนาชัย โรงเรียนอนุบาลเด่นหล้าเพชรเกษม เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 กับผลงานชื่อ “รถจรวดช่วยชีวิต” เล่าว่า รถจรวดที่วาดจะมีไว้เพื่อช่วยชีวิตผู้คน ไว้พาคนป่วยไปโรงพยาบาล ส่วนเงินรางวัลที่ได้ ตั้งใจจะนำไปบริจาคให้กับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

ในรุ่นระดับอายุ 8-11 ปี ด.ญ.วริศรา สัมฤทธิ์ โรงเรียนอนุบาลวังสามหมอ อุดรธานี เจ้าของรางวัลชนะเลิศ จากผลงานชื่อ “Lunch Car for Children” เล่าแนวคิดว่า อยากให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน สิทธิพื้นฐานก็คือได้รับอาหารอย่างพอเพียง เลยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพราะอยากให้ทุกคนได้รับอาหารที่ดี

ด.ช.ปรเมศวร์ ฮดฤาชา โรงเรียนมหาไถ่ศึกษา เลย เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 จากผลงานชื่อ “รถพลังงานแสงอาทิตย์” เล่าว่า อยากให้มีรถพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะในหนึ่งตึกมีรถคันหนึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ถ้ามีตึก 3 แสนตึก ก็จะขยายไปได้ แต่ตึกหนึ่งมีรถมากกว่าหนึ่งคัน ถ้าใช้พลังงานแสงอาทิตย์หมดก็จะช่วยลดมลพิษได้

ด.ญ.เกศชฎาพร คุ้มบ้าน โรงเรียนสมคิดจิตต์วิทยา ชลบุรี เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 จากผลงานชื่อ “Nature Car” เล่าว่า รถที่ออกแบบมาผลิตจากวัสดุธรรมชาติไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และลม ด้านหน้ามีใบพัดปั่นพลังงานและทำความเย็น อยากให้รถคันนี้เกิดขึ้นจริงเพื่อช่วยโลกใบนี้

สำหรับรุ่นระดับอายุ 12-15 ปี ด.ญ.ชวิศา ปาละมะ Global Indian International School ปทุมธานี เจ้าของรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานชื่อ “รถตะเพียนกู้ภัยพลังงานสะอาด” บอกว่า แนวคิดมาจากที่ตัวเองชอบกินปลา มีข่าวภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น จึงอยากวาดรูปนี้ขึ้นเพื่อช่วยคนญี่ปุ่นจากภัยพิบัติ คาดไม่ถึงว่าตัวเองจะได้รับรางวัลชนะเลิศ

ด.ญ.ศิชาพร นิ่มปาน โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม สระบุรี เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 จากผลงานชื่อ “รถไฟทางน้ำ พิทักษ์ความยากไร้” บอกว่า อยากสร้างรถที่เข้าถึงทุกคน ได้รับความสะดวกสบาย รวมถึงอาหารและยาที่เหมาะสม อยากผลักดันด้วยงานศิลปะ เพื่อให้มีชีวิตที่แตกต่าง ดีใจมากที่กรรมการเลือกผลงานของหนู

น.ส.สโรชา การจนารักพงค์ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย พระนครศรีอยุธยา เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 จากผลงานชื่อ “Little Whale” บอกว่า ที่วาดภาพออกมาเป็นวาฬเพราะตัวเองชอบไปเที่ยวทะเล จึงตั้งใจใช้วาฬเป็นสื่อไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดมลพิษและลดขยะ

ผลงานจากผู้ชนะทั้ง 3 รุ่น จำนวน 9 ภาพ จะนำส่งเข้าประกวดระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป นอกจากนี้ในปีนี้ โตโยต้าจะนำผลงานน้องๆ 30 ผลงาน จัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่าง 20-31 ส.ค. เพื่อให้ผลงานของเยาวชนไทย ได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ติดตามข้อมูลข่าวสาร และร่วมลุ้นผลงานของเยาวชนไทยในระดับโลกผ่านทาง Facebook : Toyota Dream Car Art Contest และ www.toyota.co.th/toyotadreamcarthailand.