เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์ ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย โดยนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเอกวิทย์ มีเพียร นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมนายเกรียงศักดิ์ สมจิต ปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนราชการ นายกันวลินทร์ เมืองแก้ว นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ดร.บุญถึง ประเมินมงคลกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะแกโพรง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ ตนพร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นกิจกรรมแห่งการหลอมรวมความรู้รักสามัคคีและความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ และได้มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชม “ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์” ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลกในพื้นที่ภาคการผลิตของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นการถ่ายทอดความสำเร็จในด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่มีความเชื่อมโยงกับวิถีชุมชน และองค์ความรู้ท้องถิ่นที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังจะสามารถต่อยอดในการสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ได้มีแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยแบบจับต้องได้ตามหลักวิชาการ

“จากข้อมูลที่วิทยากรได้บรรยายในการเยี่ยมชมครั้งนี้ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันองค์การสวนสัตว์ประสบความสำเร็จและมีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ธรรมชาติได้มากถึง 105 ตัว มีชีวิตรอดในธรรมชาติ 71 ตัว และทำให้มีลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทยเกิดในธรรมชาติ ไม่น้อยกว่า 15 ตัว หลังจากที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติกว่า 50 ปี และล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งชื่อให้กับนกกระเรียน 2 ตัว มีอายุ 20 ปี แต่ยังไม่มีชื่อ โดยตั้งชื่อให้กับตัวผู้ว่า “เฉิดโฉม” ส่วนตัวเมียชื่อ “แจ๋วแหวว” ในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทย จากการเพาะเลี้ยงคืนสู่ธรรมชาติ ครั้งที่ 12 และเทศกาลนกกระเรียนประจำปี 2567 อีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า นกกระเรียนเป็นนกน้ำขนาดใหญ่ พบจำนวน 15 สายพันธุ์ทั่วโลก โดยนกกระเรียนไทยจัดว่าเป็นนกขนาดใหญ่ที่สุด โตเต็มวัย จึงเป็นเป้าสายตาของนักล่าได้ง่าย แม้ว่าในอดีตจะมีบันทึกการพบนกกระเรียนไทยเป็นจำนวนมากตามทุ่งนาและหนองน้ำ ซึ่งจากบันทึกเรื่อง “ลานนกกระเรียน” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการทำรังวางไข่ของนกกระเรียนพันธุ์ไทยจำนวนนับหมื่นตัวในบริเวณทุ่งมะค่า จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นการล่านกกระเรียนก็แพร่หลาย พร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศดั้งเดิม และการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และจากข้อมูลสถิติพบนกกระเรียนไทยฝูงสุดท้าย บินผ่านจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2488 ต่อมาในปี 2507 มีรายงานว่าพบนกกระเรียนไทย 4 ตัว ที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดปทุมธานี และในปี 2511 พบลูกนกกระเรียน 2 ตัวบริเวณชายแดนไทยเขมรแถวจังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้นำนกคู่นี้มาเลี้ยงดู และอยู่รอดในกรงจนถึงปี 2527 จากนั้นไม่มีใครพบเห็นนกกระเรียนตามธรรมชาติในประเทศไทยอีกเลย แต่นับว่ายังเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่ได้เกิดการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยของสวนสัตว์นครราชสีมา องค์การสวนสัตว์ เริ่มต้นจากพ่อแม่พันธุ์ 27 ตัว ในปี 2533 ซึ่งการเพาะขยายพันธุ์ในช่วงแรกต้องอาศัยการลองผิดลองถูก และใช้เวลามากกว่า 7 ปี จึงประสบผลสำเร็จได้ลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทย 2 ตัวแรก และได้นำเทคนิคการผสมเทียมจากมูลนิธินกกระเรียนสากล สหรัฐอเมริกา มาปรับใช้ให้การเพาะขยายพันธุ์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ขอชื่นชมพลังการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ได้ร่วมกันทำให้เกิดพื้นที่ศูนย์อนุรักษ์และศูนย์การเรียนรู้นกกระเรียนแห่งนี้ อันแสดงให้เห็นถึงการทํางานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชนในชุมชนท้องถิ่น โดยมีภาคราชการเป็นกลไกการในการบูรณาการประสานงานอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดความร่วมมือกันอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย และขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ตลอดจนส่วนราชการต่างๆในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ให้ความสําคัญกับการอนุรักษ์ ป้องกัน ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของชาวมหาดไทยที่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนตามเจตจำนง 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบเดียวนี้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน สรรพสัตว์ ต้นไม้ และทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า “นกกระเรียน” ตามความเชื่อของจีนนั้นพบว่า เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการมีอายุที่ยืนยาว โดยในสมัยโบราณฉลองพระองค์ของเชื้อพระวงศ์จีนและเกาหลี มักจะออกแบบเป็นรูปนกกระเรียน และในยุคปัจจุบันเองก็จะพบว่า ภาพวาดนกกระเรียนหรือของขวัญลวดลายนกกระเรียนก็มักจะมีการส่งมอบกันและกันอยู่เนือง ๆ อันสื่อความหมายถึง การอวยพรผู้ที่ได้รับให้มีอายุมั่นขวัญยืน”และในส่วนของ “นกกระเรียนพันธุ์ไทย” เป็นสายพันธุ์นกกระเรียนชนิดหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์แห่ง “รักแท้” เพราะนกกระเรียนไทยจะจับคู่แบบผัวเดียว – เมียเดียว ตลอดชีวิต และยังมีความเชื่อที่ว่า หากนกกระเรียนตัวใดตัวหนึ่งตายลงไป ตัวที่เหลือก็จะค่อย ๆ ตรอมใจตายตามไปด้วย นอกจากนี้ ในประเทศอินเดีย นกกระเรียนถูกกำหนดเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ในชีวิตแต่งงาน เชื่อกันว่าเมื่อคู่ตายลง นกอีกตัวก็จะเศร้าโศกจนตรอมใจตายตามไป” ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติม