พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี ดีเอบี พลัส จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงในระบบดิจิทัล ที่เป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุในย่าน 174-230 เมกะเฮิรตซ์ โดยได้แบ่งพื้นที่ประเทศไทยเป็น 10 ภูมิภาคและ 34 พื้นที่ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล ที่กำหนดค่ากำลังส่งออกอากาศสูงสุดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และค่ามาตรฐานอื่นๆ ที่ได้ผลมาจากการทดลองออกอากาศ ที่ทำร่วมกับ สถานีวิทยุกองทัพบก และผลงานวิจัยจากคณะที่ปรึกษา

และสุดท้าย คือ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล ที่มีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ MPEG-4 HE ACC v2 ตามมาตรฐาน ดีเอบี พลัส  โดยกำหนดทั้งประเภทที่ 1 คือ ภายในยานพาหนะ ประเภท 2 คือ ภายในครัวเรือนหรือพกพา และประเภท 3 คือ ส่วนเพิ่มเติมสำหรับติดตั้งภายในรถยนต์

พลอากาศโท ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า  ผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ได้รับข้อคิดเห็นทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์ โดยที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปที่ดีขึ้น ทั้งด้านคุณภาพของสัญญาณและปัญหาการรบกวน แต่มีข้อห่วงใยในเรื่องระบบนิเวศ และมูลค่าการลงทุนโครงข่ายที่อาจสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาเครื่องรับที่อาจเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนผู้บริโภค โดย กสทช. ควรมีนโยบายในการสนับสนุนและแก้ปัญหาดังกล่าวที่ชัดเจน

“วิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล ถือเป็นทางเลือกเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบการอนุญาต จากที่สถานีวิทยุทดลองออกอากาศจะต้องยุติการออกอากาศในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ จึงต้องเร่งรัด เสนอหลักเกณฑ์การอนุญาต ให้บริการโครงข่าย และอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ดีเอบี พลัส ในขณะเดียวกันระบบเอฟเอ็ม เดิมจะต้องดำเนินการคู่ขนานโดยจะออกประกาศเชิญชวนให้สถานีวิทยุทดลอง ออกอากาศประเภทชุมชน และสาธารณะ เข้าสู่ระบบการอนุญาตในเดือน ก.ค. นี้ และจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การประมูลสำหรับประเภทธุรกิจ โดยจะนำไปรับฟังความคิดเห็น ภายในเดือน ก.ค.นี้ เช่นกัน เพื่อให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศที่เข้าสู่ระบบการอนุญาตจะได้ไม่ต้องยุติการออกอากาศ และสามารถออกอากาศต่อไปได้” พลอากาศโท ธนพันธุ์ กล่าว