ภายหลังจากที่ได้ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม  ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มาเป็นกุนซือคนสำคัญในเรื่องนี้  ส่วนวันที่ 18 มิ.ย. กรณีอัยการสูงสุดส่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร คดี มาตรา 112 ภายหลังจากที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง และการพิจารณา ยุบพรรคก้าวไกล ของศาลรัฐธรรมนูญ  กรณีอันควรเชื่อว่า มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ ซึ่งในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ถกนัดแรกคดียุบพรรค ซึ่งคาดว่าคดียุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะนัดฟังคำวินิจฉัยได้ภายในเดือน ส.ค.นี้

แต่ ไฮไลต์ ที่ต้องจับตามากที่สุดตอนนี้คือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่า กรณีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดี (น.ส.วิเตือน งามปลั่ง) ในคดีหมายเลขดำที่ 899/2567 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ ซึ่งประเด็นที่มีการร้องมาจากศาลปกครองนั้น ถือว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นการขอให้ศาลวินิจฉัยสาระสำคัญของ พ.ร.ป. ดังกล่าวว่าการเลือก สว. ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ตามที่ พ.ร.ป. กำหนดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถึงแม้ว่าเวลานี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังเดินหน้าตามไทม์ไลน์ปกติทุกอย่าง และจะประชุมในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือก สว.ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิ.ย.นี้  ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงพอสมควร เพราะหากในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า พ.ร.ป.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญขึ้นมา ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไข พ.ร.ป. กันใหม่ ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.ป. แก้ไข พ.ร.ป. สว.ในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งหมายความว่า การเลือกตั้ง สว. ที่ดำเนินการไปแล้ว จะต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว จนกว่าร่างกฎหมายใหม่จะเสร็จสิ้น หรืออาจมีผลให้กระบวนการเลือก สว.ที่ดำเนินการมาตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกา เป็นโมฆะไปด้วย ซึ่งหมายความว่า สว. 250 คนชุดปัจจุบัน จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป จนกว่ากระบวนการเลือก สว.ใหม่จะเสร็จสมบูรณ์ จากเดิมที่คาดว่าจะมี สว.ชุดใหม่ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ 

ซึ่งการที่กระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่ ล่าช้าออกไปด้วยเหตุการณ์เป็น “โมฆะ” นั้น จะมีผลในทางการเมืองตามมาอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจาก สว.ชุดปัจจุบัน จะยังสามารถทำหน้าที่เป็น “หอกข้างแคร่” ให้กับรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการถ่วงไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังจำเป็นต้องใช้เสียง สว.ในการสนับสนุน รวมไปถึงการตรากฎหมายนิรโทษกรรมที่จะต้องผ่านการพิจารณาของ สว.เช่นกัน  ซึ่งแน่นอนว่าตราบใดที่ สว.ชุดนี้ ที่เป็น “มรดกบาปของ คสช.” ยังคงอยู่ต่อไป วาระทางการเมืองของรัฐบาล ที่จำเป็นต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภาก็เป็นเรื่องยากที่จะผ่านไปได้

ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของ กกต. ก็ต้องรับผลกรรมจากการเลือก สว.ที่เป็น “โมฆะ” ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการถูกดำเนินคดีอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  เหมือนกับที่ กกต.ในอดีตเคยโดนมาแล้ว  

ดังนั้นการเมืองเดือน มิ.ย.ปัญหาเกี่ยวกับการเลือก สว.ที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้.