เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 5 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้พลาสติก ทั้งนี้ จากการสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า ประชาชน 50.8% ใช้พลาสติก 2-3 ชิ้นต่อวัน โดย 72.2% เป็นถุงพลาสติกหูหิ้วมากที่สุด รองลงมา คือ ขวดน้ำพลาสติก และหลอดพลาสติก สอดคล้องกับข้อมูลสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษ ปี 2565 พบว่า มีขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 11% ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือ 2.83 ล้านตันต่อปี โดยมีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ซ้ำเพียง 25% หรือประมาณ 0.71 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่เหลือประมาณ 2.04 ล้านตัน จะถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะอื่นๆ ในขณะที่ 0.08 ล้านตัน ไม่ได้รับการจัดการและตกค้างในสิ่งแวดล้อม

พญ.อัจฉรา กล่าวต่อว่า ขยะพลาสติกหากทิ้งและกำจัดไม่ถูกวิธี อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์และแมลงพาหะนำโรค หรือหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำได้ รวมถึงการกำจัดรวมกับขยะอื่นที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเผาขยะกลางแจ้ง จะก่อให้เกิดควันและสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ กระบวนการผลิตพลาสติก ยังมีการใช้วัตถุดิบจากปิโตรเลียมและพลังงานจำนวนมาก ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ สาเหตุสำคัญของปัญหาภาวะโลกเดือด กรมอนามัย จึงขอเชิญประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวลดภาวะโลกเดือด ด้วยการลดใช้พลาสติก เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก รวมทั้งในชีวิตประจำวัน ด้วย 6 วิธี ดังนี้ 1.ใช้หลัก 3 Rs ได้แก่ Reduce คือ ลดการใช้ ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น Reuse คือ ใช้ซ้ำ และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น และ Recycle แปรรูปมาใช้ใหม่ 2. รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก และภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 3.ส่งเสริม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใช้แก้วน้ำ ภาชนะส่วนตัว 4.จัดให้มีการแยกขยะและรณรงค์การทิ้งขยะให้ถูกต้อง 5. ประชาสัมพันธ์ถึงผู้มารับบริการ ให้นำถุงผ้า กระเป๋า ตะกร้า มาใส่ของหรือยากลับบ้าน และ 6.จัดอาหารว่าง อาหารกลางวัน โดยใช้วัสดุที่สามารถใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ง่ายแทน เพื่อพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการของเสีย ทุกประเภทอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับประชาชนสามารถช่วยลดขยะพลาสติกได้ง่าย ด้วย 5 วิธี ดังนี้ 1.ปฏิเสธ ไม่รับถุงพลาสติก 2.ใช้แก้วน้ำ ภาชนะส่วนตัว ใส่น้ำและอาหาร 3.ใช้ถุงผ้า ตะกร้า ใส่ของแทนถุงพลาสติก 4. หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อมพลาสติก ถ้าไม่จำเป็น ไม่ต้องใช้ และ 5.ทิ้งขยะถูกถัง และแยกขยะพลาสติก ทั้งนี้ การลดขยะ 1 กิโลกรัม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 0.8 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการฝังกลบขยะแบบถูกหลักสุขาภิบาล.