“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”  รายงานว่า วันที่ 11 มิ.ย. 67 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม จะเป็นประธานประชุมพิจารณาแนวทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ  ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ที่จะใช้พื้นที่บริเวณสะพานสีมาธานี จ.นครราชสีมา เนื่องจากยังมีชาวบ้านบางส่วนเรียกร้องให้ทุบสะพานเพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ขณะที่แผนงานของ รฟท. จะไม่ทุบสะพาน ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และส่งผลให้ทั้ง 2 โครงการในช่วงบริเวณดังกล่าวไม่สามารถเดินหน้าต่อได้

ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม ได้หารือ และร่วมกันพิจารณาแนวทางการทุบสะพานสีมาธานี และก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด (Underpass) ตามข้อเรียกร้องของประชาชนบางส่วนแล้ว จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่าจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมาก เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) มีปริมาณการจราจรกว่า 77,819 คันต่อวัน

เมื่อทุบสะพานสีมาธานีและก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดจะส่งผลให้เกิดคอขวดสำหรับการเดินทางผ่านเส้นทางนี้ โดยมีความยาวแถวคอยสูงสุด 738 เมตร และใช้ระยะเวลาแถวคอยสะสมประมาณ 3 ชม. 8 นาที หากอยู่ในช่วงเทศกาลรถจะติดเพิ่มขึ้นอีก 40-50%

อีกทั้งจะต้องใช้เวลาก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดไม่น้อยกว่า 33 เดือน หรือประมาณ 3 ปี ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการจราจรจากการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก่อนเริ่มก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดได้ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วย ใช้เวลาอีกประมาณ 24 เดือน จะทำให้การก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด และรถไฟทางคู่ ในช่วงบริเวณดังกล่าวต้องหยุดชะงักไปด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อให้สามารถก่อสร้างทั้ง 2 โครงการต่อไปได้ กระทรวงคมนาคมจึงเห็นสมควรเสนอรูปแบบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา บริเวณสะพานสีมาธานี เป็นทางรถไฟยกระดับลอดใต้สะพานสีมาธานี จะไม่ทุบสะพานซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว

สำหรับข้อดีของการไม่ทุบสะพาน และทำทางรถไฟยกระดับลอดใต้สะพานสีมาธานีนั้น จะทำให้ทางรถไฟไม่แบ่งแยกชุมชน การสัญจรของประชาชนไปได้เหมือนเดิมโดยสะดวก ไม่มีผลกระทบต่อการจราจรของทางหลวงจากการรื้อสะพาน อีกทั้งยังแก้ปัญหาจุดตัดเสมอระดับ ทางลักผ่านได้ทุกจุด โดยไม่ต้องก่อสร้างสะพานลอย อุโมงค์ และจุดกลับรถรวม 9 จุด ไม่กีดขวางทางระบายน้ำด้วย  อีกทั้งสะพานยังมีสภาพดีไม่ทรุดโทรม แต่ข้อเสียทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทางรถไฟ จากเดิมระดับดิน เป็นทางยกระดับเพิ่มสูงขึ้น

กระทรวงคมนาคม จะพยายามทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะหากทุบสะพาน ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนมิตรภาพ และติดทั้งเมืองไปอีก 3 ปี ต้องรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อีกมากมาย ทั้งนี้หากประชาชนบางส่วนยังคงเรียกร้องให้ทุบสะพาน และไม่ยอมให้ รฟท. เข้าพื้นที่ดำเนินการใดๆ

ข้อเสียของเรื่องนี้ก็จะตกอยู่กับประชาชนที่จะต้องได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อรถไฟทางคู่สายอีสานเดินรถจากมาบกะเบา ถึงคลองขนานจิตร จะเข้าตัวเมืองโคราช ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเดินรถทางเดี่ยว และวิ่งบนคันดิน ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ขบวนรถสายอีสานต้องผ่านทุกขบวน และกลายเป็นจุดคอขวดที่ขบวนรถต้องมาจอดรอ และทำให้การเดินรถไฟล่าช้าด้วย.