เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า มีชาวบ้านเข้าป่าไปเก็บเห็ด ใกล้กับภูลมโล จ.เลย ก่อนนำมาย่างกิน ต่อมาได้มีอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน และเสียชีวิตต่อมาที่โรงพยาบาล 1 ราย เนื่องจากตับและไตวายเฉียบพลัน จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบผู้เสียชีวิตเป็นชาย อายุ 45 ปี อยู่ ชาวอ.ภูเรือ จ.เลย ได้กินเห็ดพิษไป 5 ดอก ซึ่งถือเป็นรายแรกในรอบปี 2567

ด้าน พญ.รัศมีแข จงธรรม์ แพทย์อายุรกรรรม โรงพยาบาลเลย กล่าวว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศเป็นใจกับการเกิดผลผลิตทางธรรมชาติ ที่เป็นที่ต้องการของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น เห็ดป่า ซึ่งการเก็บเห็ดป่าหน้าฝนต้องระวัง เพราะอาจเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการเก็บเห็ดพิษบางชนิด ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเห็ดกินได้ สถานการณ์ในจังหวัดตอนนี้ ผู้ป่วยที่มารักษาอาการด้วยเห็ดพิษเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน รวมทั้งผู้ป่วยที่ส่งตัวมาจากพื้นที่อำเภอโดยรอบใน จ.เลย ขณะนี้ 9 ราย และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก

พญ.รัศมีแข กล่าวต่อว่า อยากฝากเตือนประชาชนที่เก็บป่าต้องตรวจสอบเห็ดให้ดี ซึ่งชนิดของเห็ดพิษในประเทศไทยมีหลากหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่สำคัญในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ เช่น เห็ดระโงกหิน หลังรับประทานเห็ดพิษกลุ่มนี้จะไม่มีอาการในตอนแรก แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อผ่านไปแล้ว 4-6 ชั่วโมงเป็นต้นไป อาการเริ่มต้นคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นช้ามากกว่า 10 ชั่วโมง หรือข้ามวันไปแล้ว หลังจากมีอาการผ่านไป 2-3 วัน การทำงานของตับจะเริ่มแย่ลง เอนไซม์ตับสูงขึ้น มีภาวะตับอักเสบ หากรุนแรงอาจเกิดตับวายและเสียชีวิตได้

พญ.รัศมีแข กล่าวต่ออีกว่า กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เช่น เห็ดเหลืองนกขมิ้น เห็ดถ่าน อาการเริ่มต้นคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยจะมีอาการเร็วภายใน 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน จากนั้นจะมีอาการของการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย รวมถึงปัสสาวะมีสีดำหรือสีโค้ก เนื่องจากมีของเสียในกล้ามเนื้อรั่วออกมาปนอยู่ในปัสสาวะ ในรายที่รุนแรงจะมีเกลือโพแทสเซียมที่รั่วออกมาจากกล้ามเนื้อมากจนมี หัวใจเต้นผิดจังหวะเสียชีวิตได้นอกจากยังมีสารมัยโอโกลบินในกล้ามเนื้อรัวออกมาทำให้เกิดไตวายร่วมด้วย

พญ.รัศมีแข กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนกลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดหัวกรวดครีบเขียว กลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร หลังรับประทานเกิดความผิดปกติกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย โดยจะมีอาการเร็วภายใน 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน พิษจากเห็ดกลุ่มนี้จะไม่รบกวนอวัยวะในระบบอื่น ผู้ที่มีอาการรุนแรงสามารถเสียชีวิตได้เหมือนกับอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษที่รุนแรง ทำให้ขาดน้ำรุนแรง เกิดภาวะช็อกหรือความดันตกและเสียชีวิตได้

“สำหรับการรักษาเมื่อรับประทานเห็ดพิษแล้ว หากเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ควรรีบไปพบแพทย์ แต่ถ้าหากเพิ่งรับประทานเห็ดไปไม่เกิน 6 ชั่วโมงแล้ว มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาจรักษาตัวเองเหมือนอาการอาหารเป็นพิษก่อนได้ แต่ถ้าหากอาการรุนแรง เช่น รับประทานไม่ไหว ดื่มน้ำเกลือแร่ไม่ไหว ปัสสาวะมีสีเข้มหรือสีโค้ก ท้องเสียมาก อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน วิธีการเบื้องต้น ได้รับพิษจากเห็ดซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นเห็ดชนิดใด พยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยการล้วงคอ หรือให้ทานไข่ขาว จากนั้นรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด” พญ.รัศมีแข กล่าว.