เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง เป็นประธานการประชุมสรุปผลการทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี DAB+ โดยมี พลโท ชำนาญ ช้างสาต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เข้าร่วมประชุมด้วย พร้อมผู้แทนจากผู้ประกอบการ นักวิชาการ และประชาชน เข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟังผลการทดลองทดสอบและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทั้งในทางวิชาการและแนวทางในการดำเนินการ ต่อไป

ตามที่ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MoU) กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในการดำเนินการทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล DAB+ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องจากระยะแรก ที่ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และในครั้งนี้ได้ขยายผลต่อในส่วนของภูมิภาคทั้ง 4 ภาค โดยได้ติดตั้งเครื่องส่งออกอากาศ (Transmissions) ที่ใช้ในการทดลอง ดังนี้

ภาคกลาง ที่จังหวัดชลบุรี จำนวน 2 ที่ คือ ที่ศรีราชาและพัทยา โดยจัดให้มีสถานีวิทยุพัทยา ร่วมออกอากาศ

ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ที่ โดยจัดให้มีสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสถานีวิทยุกองทัพภาค 3 ร่วมออกอากาศ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 ที่ โดยจัดให้มีสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถานีวิทยุกองทัพทัพอากาศ ร่วมออกอากาศ

ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา จำนวน 1 ที่ โดยจัดให้มีสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมออกอากาศ

รวมทั้งได้ทำการทดลองเชื่อมสัญญาณเพื่อรองรับการเป็นวิทยุในระดับชาติกับทางโครงข่ายเครื่องส่งออกอากาศที่กรมทหารสื่อสาร สะพานแดง กรุงเทพฯ ตลอดจนเปิดโอกาศให้สถานีวิทยุในท้องถิ่น เช่น สถานีวิทยุเสียงธรรม หรือ สถานีวิทยุลานนา เข้าร่วมออกอากาศด้วย โดยได้ทำการทดสอบทั้งในส่วนของการรับฟังนอกอาคาร (outdoor) และในอาคาร (indoor) รวมทั้งทำการทดสอบการส่งข้อความสั้นและตัดการออกอากาศ เมื่อต้องการแจ้งเหตุกรณีเกิดภัยพิบัติ (Emergency Warning) หรือมีข่าวด่วน ซึ่งผลการทดลองทดสอบเป็นที่น่าพึงพอใจ การออกอากาศมีคุณภาพที่ดีในทุกภาค ยกเว้นที่ชลบุรีที่ต้องมีการปรับค่าพารามีเตอร์ในบางพื้นที่ที่การแพร่สัญญาณมีอุปสรรค ทำให้ได้ข้อมูลทางเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ในการกำหนดแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องส่งและเครื่องรับในระบบดิจิทัล DAB+ ที่ทางสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำ และจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 6 มิถุนายน นี้ ต่อไป

“ผลการทดลองครั้งนี้ ทำให้สำนักงาน กสทช. ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปต่อยอดได้ ขั้นตอนต่อไป เมื่อต้องการให้เกิดขึ้นจริง คงต้องนำเสนอ กสทช. เพื่ออนุมัติในหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตเพื่อให้เกิดผู้ประกอบการโครงข่ายที่สามารถให้บริการผู้ประกอบการสถานีวิทยุทั้งประเภทชุมชน สาธารณะ และธุรกิจ ให้ออกอากาศด้วยระบบดิจิทัลได้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกิจการกระจายเสียง อันนำไปสู่วิสัยทัศน์ที่ต้องการยกระดับ กิจการกระจายเสียงไทยไปสู่มาตรฐานสากล เพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจที่ยังยืนต่อไป เพราะต้องยอมรับว่ากิจการวิทยุ คงเป็นกิจการสื่อสารสุดท้ายของประเทศไทย ที่ยังคงเป็นระบบอนาล็อกอยู่ โดยหน้าที่ของผม ก็ต้องส่งเสริมและพัฒนาต่อไปภายใต้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป” พลอากาศโท ธนพันธุ์  กล่าว