เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์  สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยรายงานให้ กนช.ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงาน ครม.เพื่อทราบต่อไป ทั้งนี้ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. และสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.ของทุกปี (ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. และสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. ของทุกปี) ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนกำหนดมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที รวมทั้งได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2567/2568

นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า สำหรับ 10 มาตรการดังกล่าว มีดังนี้ มาตรการ 1 คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง (เดือน มี.ค. 2567 เป็นต้นไป) มาตรการที่ 2  ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 3 เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงและศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝน–ตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 4 ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ (ก่อนฤดูฝน–ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 6 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ ตลอดช่วงฤดูฝน มาตรการที่ 7 เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน ภายในเดือน พ.ค.-พ.ศ.2567 มาตรการที่ 8 สร้างความเข้มเข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนฤดูฝน ถึงตลอดช่วงฤดูฝน มาตรการที่ 9 การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝน–ตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 10 ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)

นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนในปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ระยะเวลาดำเนินการ 120 วันนับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยแบ่งไว้ทั้งหมด 5 กิจกรรม ดังนี้ 1.การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ 2.การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา 3.การขุดลอกคูคลอง 4.การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ 5.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ ครม.มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่ กนช.เสนอด้วย ซึ่งแผนดังกล่าวมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นเป้าหมายของแผนปฏิบัติฯ คือการเพิ่มความจุกักเก็บน้ำ 1,544.86 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 7.5 ล้านไร่ และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 5,623,955 ครัวเรือน รวมถึงมีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.97 ล้านไร่ และมีเขื่อนป้องกันตลิ่งความยาว 552,817 เมตร โดยจะใช้งบประมาณทั้งประเทศ จำนวน 440,431.2 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568