นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ในฐานะประธานโครงการ WGP#1 เปิดเผยว่า ตนได้เห็นการพัฒนาของกีฬาเจ็ตสกี WGP#1 มาแล้วหลายปี ตั้งแต่เจ็ตสกีไทย ยังเล็กๆ ทำตามฝรั่งต่างชาติที่เข้ามาควบคุมการจัดทัวร์นาเมนต์ทุกอย่าง พัฒนาถึงวันนี้ คนไทยขึ้นมาควบคุมการบริหารกีฬาเจ็ตสกีโลก และทางกลับกัน เป็นสมาคมเจ็ตสกีโลก IJSBA สหรัฐอเมริกา ยุโรป สมาคมกีฬาเจ็ตสกีนานาชาติทั่วโลก ที่ต้องฟังนโยบายจากไทย สิ่งนี้เป็นการพัฒนากีฬาที่มีมูลค่าอย่างสูงยิ่ง

ปีนี้เราจะตั้งเป้าเป็นมหกรรมกีฬานานาชาติแบรนด์ไทย ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำทีมนักกีฬาต่างชาติเข้ามาเมืองไทยมากกว่า 4,000 คน ซึ่งกับกีฬาเจ็ตสกีนั้น ต้องส่งเรือแข่งเข้ามา ส่งอุปกรณ์ ทีมงานจำนวนมาก มาอยู่ในเมืองไทยเฉลี่ยกว่า 14 วัน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวกว่า 200,000 บาท หมายความว่า ปลายปีนี้ WGP#1 จะนำเข้ารายได้และสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 800 ล้านบาท เฉพาะกลุ่มนักกีฬา

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับส่วนรวมอีกมาก เช่น สื่อโทรทัศน์และออนไลน์ ที่จะถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลกครอบคลุมกว่า 120 ประเทศ บนเครือข่ายสื่อกว่า 400 ล้านครัวเรือน เชื่อมั่นว่าด้านสื่อจะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เราจะใช้โอกาสนี้ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย นำเสนอภาพสวยๆของไทย ออกไปถึงผู้คนทั่วโลก

อีกด้านเป็นการขยับตัวพัฒนางานครั้งสำคัญ เมื่อ WGP#1 เป็นสนามแข่งที่นักกีฬาทั่วโลกเชื่อถือว่าเป็นทัวร์นาเมนต์แข่งขันอันดับที่ 1 ศูนย์กลางของโลกแล้ว ไทยจะขยับตัวสู่ศูนย์กลางเวทีการค้าโลก โดยจัดงานแสดงเปิดตัวเจ็ตสกีรุ่นใหม่ล่าสุดของโลกทุกๆ ปี และการจัดประชุมสัมมนา ต่อยอดให้คนในอุตสาหกรรมกีฬานี้ของโลก เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะนี้ แบรนด์ผู้ผลิตเจ็ตสกีทั้ง 3 รายใหญ่ของโลก เช่น คาวาซากิ, ซีดู และยามาฮ่า ตอบรับแล้ว นั่นเพราะไทยมีจุดขายโชว์เคส ที่ดีที่สุดในโลก ได้เห็นสมรรถนะเรือเจ็ตสกีที่แชมป์โลกขับ ขณะเดียวกันก็เป็นเวทีสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาเจ็ตสกีไทยขยายตัวการส่งออกสู่ตลาดโลกด้วย

กีฬาเจ็ตสกี WGP#1 มาถึงจุดนี้ได้ คือคำตอบว่า เหตุใดต้องออกไปแข่งขันสร้างความเชื่อถือบนเวทีโลก การไปสร้างโรด์โชว์ หรือเวิลด์ทัวร์ เป็นงานที่ยาก เพราะต้องแข่งกับต่างชาติ แต่ก็จำเป็นต้องทำ ถ้าทำสำเร็จจะเห็นว่า งานด้านทรัพย์สินทางปัญญากีฬา สร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติได้มากมาย นี่คือซอฟต์พาวเวอร์อย่างแท้จริง อย่าไปมองว่าเจ็ตสกีเป็นกีฬาคนรวย อันนี้ผิดจุด ทั้งๆ ที่กีฬานี้มีนักกีฬาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ได้รับโอกาสจากเจ้าของทีมจำนวนมาก เหมือนโมโตจีพี ขอให้มองให้ชัดเจนว่า นี่แหละคือ วัตถุดิบสร้างซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถมีผลกับตลาดโลก

“ผมขอเน้นว่า ถ้าเราสามารถทำงานนี้ให้เป็นมหกรรมกีฬานานาชาติ แบรนด์ไทย ที่ดึงดูดทีมกีฬาต่างประเทศเข้ามาได้ระดับ 4,000-5,000 คน บางกิจกรรมต้องไปเสียเงินซื้อลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศระดับ 400-500 ล้านบาท หรือ 1,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกันแล้ว กิจกรรม WGP#1 จึงเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย อย่างมากในหลายด้าน” นายสุวัจน์ กล่าว.